ปวดหัวจากความเครียด บรรเทาอย่างไรโดยไม่ต้องกินยา?
ปวดหัวจากความเครียดนานมากกว่า 15 วัน เสี่ยงภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย พบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5-2 เท่า เผยวิธีบรรเทาอาการปวดหัวโดยไม่ต้องกินยา
ปวดหัวเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยๆ มีมากมายหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านร่างกายเป็นไข้ มีประจำเดือนก็ปวดหัว ออกกำลังกายมากไป เล่นโทรศัพท์มากไป สาเหตุที่พบได้บ่อยมาก คือ ปวดหัวจากความเครียด โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดที่ศีรษะ มีตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง ปวดดื้อๆ ปวดบีบๆ รู้สึกเหมือนมีอะไรมารัดศีรษะ อาจเจ็บแปล๊บๆ ที่หนังศีรษะ บางคนปวดข้างเดียว ปวดมาที่กระบอกตา คล้ายไมเกรนแต่มักไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น ไม่มีอาการทางสายตา ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
เช็ก! อาการปวดหัวอันตราย - วิธีแก้เบื้องต้นด้วยตัวเอง เลี่ยงกินยาพร่ำเพรื่อ
“ปวดหัว” แบบไหนอันตรายและควรพบแพทย์โดยด่วน ปวดหนักตอนเช้าเกิดจากอะไร?
ปวดหัวจากความเครียดอาจมีอาการเป็นครั้งคราว นานๆ ปวดครั้ง แต่ละครั้งอาจปวดนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน แต่บางคนอาจปวดเรื้อรัง ปวดแทบทุกวัน เดือนหนึ่งๆ ปวดมากกว่า 15 วัน กรณีอย่างนี้ อาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย
โรคนี้พบได้ในทุกวัย มักเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว (มีโอกาสน้อยมากที่จะมีอาการครั้งแรกหลังอายุ 50 ปี) และพบมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5-2 เท่า
สาเหตุที่ทำให้ปวดหัว เชื่อว่าเป็นเพราะกล้ามเนื้อรอบๆ ศีรษะมีการเกร็งตัวซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด คร่ำเคร่งกับงาน ความหิว อดนอน อ่อนเพลีย ตาผลจากงานวิจัยยังไม่สามารถยืนยันได้คงบอกได้แต่ว่า ความเครียดเป็นสิ่งกระตุกให้เกิดอาการปวดหัวนอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับโรคไมเกรน โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์หรือการปรับตัว
ปวดหัวทำอย่างไรให้หายโดยไม่ต้องกินยา
- พัก อยู่ในที่เงียบๆ ไม่มีสิ่งรบกวน ทั้งเรื่องแสง เสียง ความร้อนอุณหภูมิ
- ใช้ความเย็น (น้ำแข็ง) ประคบศีรษะ ต้นคอ แต่คนไข้บางคนชอบใช้กระเป๋าน้ำร้อนมากกว่า
- การนวดแถวต้นคอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดต้นคอร่วมกับการปวดหัว ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- ทำจิตใจให้สงบ เข้าสมาธิ บังคับตัวเองให้คิดถึงสิ่งดีๆ คำพูดดีๆ ของเพื่อน หรือของใครก็ตามที่ทำให้เรายิ้มได้ หัวเราะได้
- จิบเครื่องดื่มที่ชอบโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เพราะกาเฟอีนมีฤทธิ์ลดอาการปวดหัวได้
โดยทั่วไปจากคำบอกเล่าของผู้ป่วยถึงลักษณะอาการปวดศีรษะก็ช่วยในการวินิจฉัยได้แล้ว ลักษณะอาการของอาการปวดศีรษะ เช่น ปวดดื้อๆ ปวดบีบๆ ปวดเหมือนมีอะไรมารัดศีรษะ ดูจากตำแหน่งที่ปวด ดูว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เห็นภาพซ้อน มีเสียงดังในหู นั้นอาจเป็นอาการที่แสดงว่าไม่ใช่ปวดศีรษะจากความเครียดธรรมดา ในกรณีเช่นนี้อาจจะต้องมีการตรวจร่างกายทางระบบประสาท และตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น CT scan (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง) หรือ MRI
ถ้าต้องกินยา มียาอะไรให้กินบ้าง?
- ยาแก้ปวด แก้อักเสบทั่วไปอย่างแอสไพริน พาราเซตามอล ให้กินได้
- ถ้าต้องใช้ยาที่แรงขึ้น ยาที่ใช้กันประจำและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ได้แก่ ibuprofen, naproxen
- ยาแก้ปวดหัวที่ใช้รักษาไมเกรน สามารถใช้ได้
- ในกรณีปวดมากและมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย แพทย์อาจให้ยาคลายเครียด หรือยารักษาอาการซึมเศร้าด้วย ส่วนยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด (narcotic) มักไม่จำเป็น
- การฝังเข็มจะช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน
“ใช้สายตาเยอะ”จนปวดหัวอาจมีสาเหตุมาลูกตาเกร็งเป็นตะคริว เช็กอาการ!
คนที่ปวดหัวรุนแรง เลือดออกในสมอง จะมีอาการอย่างไร?
มีคนไข้ที่เลือดออกในสมองหรือหลอดเลือดในสมองตีบ เล่าถึงอาการปวดหัวตอนนั้นว่า ปวดรุนแรงที่สุดในชีวิต จู่ๆ ก็ปวดเหมือนโดยสายฟ้าฟาด ไม่เคยปวดมากขนาดนี้มาก่อน ปวดแทบหัวระเบิด หากมีอาการปวดหัวรุนแรง ปวดกะทันหันทันที ไม่ใช่ค่อยๆ ปวดมากขึ้นๆ ทีละน้อย ยิ่งหากมีอาการร่วม คือ แขนขาอ่อนแรงไปข้างหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดแตก หรือหลอดเลือดตัน ซึ่งเป็นเหตุของอัมพาต หรือเสียชีวิตได้
ป้องกันไม่ให้ปวดหัวบ่อยๆ
- คนบางคนอารมณ์เสียง่าย มีเรื่องไม่ชอบใจเล็กน้อยก็ปวดหัวแล้ว การปรับพฤติกรรมทางอารมณ์เรียนรู้ที่จะจัดการอับอารมณ์ขุ่นมัว จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะได้
- รู้จักผ่อนคลาย มีวิธีผ่อนคลายได้หลากหลาย อาจจะเป็นการสูดลมหายใจเข้าลึกๆ หลายๆ ครั้ง การนับหนึ่งถึงสิบ การเล่นโยคะ การทำสมาธิ ทำจิตใจให้แน่วแน่ นึกถึงแต่สิ่งดีๆ ที่เคยพบ นึกถึงแต่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ทำให้อารมณ์หมองมัว
- ใช้ชีวิตที่ผ่อนคลาย ไม่เร่งรีบ เช่น นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่ไม่มากเกิน ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ (คนที่เป็นไมเกรน อาจปวดหัวเมื่อกินอาหารมันๆ มาก) ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต
เลี้ยงลูกอยู่หน้าจอ ให้ได้ประโยชน์ แพทย์เผยผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก
ตรวจสุขภาพตับด้วย ไฟโบรสแกน (Fibro Scan) ทางเลือกไม่เจ็บตัว!