ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ตัวช่วยลดความอ้วน ผลข้างเคียงและเกณฑ์การรักษา
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร นับเป็นทางเลือกของคนที่ลดเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จและมีปัญหาสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ แพทย์ย้ำไม่ใช่ทางลัดแต่เป็นตัวช่วย ที่ต้องเข้าใจผลข้างเคียงและการดูแลหลังผ่าตัด
ปัญหาโรคอ้วนไม่ใช่เรื่องแค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือแม้แต่โรคมะเร็งบางชนิด รวมถึงการเข้ารับการรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีอื่นๆ แล้วยังไม่สามารถกำจัดโรคอ้วนออกไปได้ ทำให้ การผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric Surgery ) เป็นทางเลือกที่หลายคนสนใจ เพื่อช่วยลดปริมาณอาหารที่สามารถกินได้ในแต่ละครั้ง ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ส่งผลให้ปริมาณแคลอรีที่รับเข้าไปลดลง ช่วยควบคุมน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สูตรลับลดน้ำหนักที่แพทย์แนะนำ เผยแคลอรีที่ควรได้รับในแต่ละวัน
ลดน้ำหนักลง แต่ไขมันไม่ลด แถม กล้ามเนื้อหายเกิดจากอะไร?

การผ่าตัดนี้ไม่ได้ทำเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว เนื่องจากยังเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพระยะยาว โดยเฉพาะในผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 37.5 หรือมากกว่า 32.5 ร่วมกับมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน
ผ่าตัดกระเพาะอาหารเหมาะกับใคร
การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ไม่ใช่ทุกคนที่อยากผ่าตัดจะสามารถทำได้ เพราะการผ่าตัดกระเพาะเป็นการทำศัลยกรรมที่ซับซ้อนและต้องผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ และไม่สามารถรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีอื่นได้แล้ว โดยผู้ที่เข้าข่ายหรืออยู่ในเกณฑ์ที่จะพิจารณาสำหรับการผ่าตัดกระเพาะมักได้แก่
- ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป กลุ่มนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากโรคอ้วน
- ผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 32.5 ขึ้นไป และมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน : ผู้ที่มีโรคอ้วนร่วมกับโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
- ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หรือกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก และ BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป
- ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หรือกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก และ BMI ระหว่าง 27.5-30 : อาจพิจารณาผ่าตัดภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ผู้ที่พยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นหรือรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ไม่ได้ผล ในผู้ที่เข้ารับการดูแลรักษาโรคอ้วนให้หาย แต่ไม่ว่าวิธีใดก็สามารถกำจัดโรคอ้วนไปได้ แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะ ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น
ประเภทของการผ่าตัดกระเพาะอาหารที่คุณควรรู้
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบสลีฟ (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy) เป็นการผ่าตัดที่ทำการตัดกระเพาะอาหารออกประมาณ 75-80% ทำให้กระเพาะอาหารเหลือเป็นลักษณะท่อยาวคล้าย "แขนเสื้อ" (Sleeve) วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณในการรับประทานอาหารลงได้อย่างมาก และยังช่วยลดระดับฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่เกี่ยวข้องกับความหิว ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วและหิวน้อยลง
ขั้นตอนการผ่าตัด จะทำโดยการเจาะรูเล็กๆ บนหน้าท้องประมาณ 4-5 รู เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไป จากนั้นศัลยแพทย์จะทำการตัดกระเพาะอาหารผ่านทางการส่องกล้อง โดยไม่ต้องเปิดหน้าท้องทั้งหมด
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบบายพาส (Laparoscopic Gastric Bypass) เป็นการผ่าตัดที่แบ่งกระเพาะอาหารออกเป็นสองส่วน ส่วนบนจะมีขนาดเล็กและทำหน้าที่เก็บอาหาร ส่วนที่เหลือจะถูกข้ามไปและเชื่อมต่อกับลำไส้เล็กส่วนกลาง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณอาหารที่กระเพาะรับได้และการลดการดูดซึมอาหารช่วยให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบบายพาส จะมีลักษณะเช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบสลีฟ โดยการผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหารทำโดยการส่องกล้องผ่านรูเล็กๆ เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัด เข้าไปทำการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้การฟื้นตัวเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
เจาะลึก “ปากกาลดน้ำหนัก” ได้ผลจริงหรือไม่? เผยกลไก-ข้อห้าม
เรื่องที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจผ่าตัดกระเพาะ
- การผ่าตัดกระเพาะไม่ใช่ทางลัดของการลดน้ำหนัก แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการลดน้ำหนัก แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็ยังต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย และวิถีชีวิตเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และเป็นผลดีในระยะยาว
- ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน เช่นเดียวกับการผ่าตัดชนิดอื่นๆ การผ่าตัดกระเพาะอาหารก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากยังไงก็เป็นการผ่าตัด อาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผล คลื่นไส้ อาเจียน หรือปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร บางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การขาดวิตามินหรือแร่ธาตุ ซึ่งต้องได้รับการดูแลทางโภชนาการอย่างต่อเนื่อง
- การฟื้นตัวหลังผ่าตัด จำเป็นต้องใช้เวลา ในช่วงแรกหลังผ่าตัด คุณจะต้องเริ่มรับประทานอาหารที่เบาหรืออาหารในรูปแบบของเหลว ก่อนที่จะกลับมากินอาหารปกติ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้ตัวเองฟื้นตัวกลับมาปกติได้เร็วที่สุด
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนที่มีผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การผ่าตัดไม่ใช่ทางลัดและไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับโรคอ้วนเพียงอย่างเดียว ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารยังต้องดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เพื่อให้สุขภาพดีทั้งภายนอกและภายใน
ทั้งนี้ การผ่าตัดกระเพาะอาหารจำเป็นจะต้องได้รับการปรึกษากับแพทย์ผู้ชำนาญการ และเข้าใจถึงข้อควรระวังต่างๆ รวมถึงผลของการรักษาและวิธีการทำอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสุขภาพของคุณ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
16 วิธีการลดน้ำหนักแบบผิดๆ ที่หลายคนอาจทำอยู่ เสี่ยงทำลายสุขภาพมากกว่า!
ลดน้ำหนักเท่ากับ“ลดไขมันพอกตับ”สูตรคำนวนดัชนีมวลกาย ลดโรคตับเรื้อรัง!