สัญญาณ “มะเร็งช่องปาก” ชนิดกระจายตัวช้า โตเร็ว เสี่ยงลุกลามทะลุใบหน้า
มะเร็งช่องปาก โรคที่เกิดขึ้นได้ หากคุณละเลย! สุขภาพช่องปาก เผยสัญญาณลักษณะของแผลเรื้อรังในช่องปากแบบไหนควรระวัง แพทย์ย้ำมะเร็งกระจายตัวได้ช้า แต่โตเร็ว กัดลึกไปยังส่วนอื่น เหงือก กราม ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ทะลุมายังผิวหน้าได้
มะเร็งช่องปาก หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว นับเป็นมะเร็งอันดับต้นๆ อีกชนิดหนึ่งที่พบมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และโดยเฉพาะผู้หญิงไทยจะเป็นโรคนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในอดีตยังนิยมเคี้ยวหมาก สุขภาพปากไม่ดีพอ ส่วนผู้ชายมักจะมีที่มาจากการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา สำหรับในปัจจุบันมีการรณรงค์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากมากขึ้น จึงทำให้ประชาชนใส่ใจการดูแลช่องปากได้ดีกว่าในอดีต
Freepik/gesrey
มะเร็งช่องปาก

ปัจจัยมะเร็งช่องปาก
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HPV ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับโรคมะเร็งปากมดลูก จากการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (Oral sex)
- การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปากได้มากกว่าคนปกติถึงสองเท่า
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- มีการอักเสบของช่องปากบ่อยๆ
- ใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี
อาการมะเร็งช่องปากเป็นเช่นไร?
อวัยวะทุกอย่างของช่องปาก สามารถเป็นมะเร็งได้ทุกส่วน อาการส่วนใหญ่ของมะเร็งในช่องปากพบได้หลายลักษณะ ซึ่งอาจสังเกตได้จากการมีฝ้าขาวๆ ที่บริเวณใต้ลิ้น เหงือก พื้นช่องปาก เมื่อเป็นนานๆ รอยฝ้านั้นจะนูนขึ้น หรือพบก้อน และมีแผล เช่น
กรณีเกิดแผลของโรคมะเร็งช่องปาก มีลักษณะคล้ายอาการร้อน แต่จะมีความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ ลักษณะแผลร้อนในทั่วไปจะเป็นไม่นานก็หาย แต่กรณีของแผลที่เป็นมะเร็งจะมีอาการมากกว่า 1 เดือน และไม่หาย แต่ไม่เจ็บปวดมากนัก และอาการก็จะพัฒนาต่อเนื่องตามระยะของโรค
- แผลเรื้อรังที่ลงลึกมักมีลักษณะเป็นแผลที่มีขอบแข็ง
- มีลักษณะเหมือนหงอนไก่ ดอกกะหล่ำ
- ผลมีลักษณะคล้ายแผลที่ลงลึกขอบแผลแข็ง ร่วมกับการมีรูปแบบเหมือนหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ
มะเร็งช่องปาก สามารถตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นได้จากการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ทันตแพทย์ และตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การส่องกล้อง และการตรวจยืนยันด้วยการตัดชิ้นเนื้อตรวจพิสูจน์
โดยส่วนใหญ่มะเร็งช่องปาก เกิดมาจากเซลล์เยื่อบุผิวชนิด Squamous cell carcinoma มะเร็งช่องปากในบางรายอาจกัดลึกทะลุออกมายังบริเวณผิวหน้า มะเร็งชนิดนี้มีการกระจายตัวได้ช้า แต่โตเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้เพียง 1 เดือน ขนาดสามารถใหญ่ขึ้นได้เป็น 2 เท่า และมะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่กัดลึกไปยังส่วนอื่น เหงือก กราม ทั้งสามารถลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอได้อีกด้วย
การรักษามะเร็งช่องปาก
จะใช้การผ่าตัดเป็นวิธีรักษาหลัก โดยคำนึงถึงการรักษาที่สามารถตัดเนื้องอกได้หมดแบบครอบคลุมทั้งในด้านความกว้าง ความลึก และอาจต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องออก หรือร่วมกับการฉายรังสีรักษา ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของมะเร็ง หรือในบางกรณีเมื่อผ่าตัดรักษาแล้วอาจต้องผ่าตัดเสริม เพื่อช่วยให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง สำหรับการรักษามะเร็งช่องปาก มีข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่ง คือ กรณีมีการลุกลามมากเกินไปจนกระทั่งไม่สามารถรักษาต่อมน้ำเหลืองได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะสามารถช่วยดูแลก่อนจะเกิดมะเร็งช่องปาก หรือสามารถพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น คือ หมั่นดูแล ใส่ใจสุขอนามัยช่องปากของตนเองเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จัดตารางสุขภาพให้ตนเองพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก6 เดือน หรือทุกครั้งที่พบความผิดปกติในช่องปาก
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 3