สงกรานต์ 2568 “เมาแล้วขับ” ระบบประสาทพัง เสี่ยงอุบัติเหตุ ผิดกฎหมายเสี่ยงคุก!
ทุกคนทราบดีว่า เมาแล้วขับเป็นเรื่องอันตราย แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังเชื่อมั่นว่าขับไหวและไม่กลัวต่อกฎหมาย ลืมไปว่า ไม่ใช่เราคนเดียวที่จะสูญเสียกับเรื่องนี้ แนะนอกจากทำให้สมองทำงานผิดพลาดแล้วยังผิดกฎหมายเสี่ยงคุกด้วย!
ข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทย จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ 284,253 ราย เฉลี่ยปีละ 56,850 ราย มูลค่าความสูญเสีย 3.7 แสนล้านบาท เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เฉลี่ยถึง 4,519 ราย เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ มากถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย ซึ่งเทศกาลสงกรานต์เป็นหนึ่งในช่วงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง

จึงเกิดการรณรงค์ตลอดมา แต่ก็ยังมีการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง จึงอยากเตือนสติทุกท่านให้ทราบอีกครั้งว่า เมาแล้วขับ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งตนเองและผู้อื่น!
เมาแล้วขับเสี่ยงอะไรบ้าง ?
- เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย ระบบประสาทจะทำงานต่างไปจากเดิม ทำให้เกิดความรู้สึกมึนเมา เวียนหัว และปวดหัว
- สูญเสียความสามารถในการควบคุมรถ สูญเสียการทรงตัว การมองเห็น การได้ยินและการตัดสินใจช้าลง อาจทำให้การขับค่อนข้างฉวัดเฉวียนและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- การประมวลผลของสมองช้าลง การคาดการณ์เหตุการณ์เบื้องหน้าลดลง การตอบสนองต่อการชนจึงน้อยลงไปด้วย
- ความง่วงซึม ทำให้เกิดอาการหลับในขณะขับขี่ได้
- ดวงตาพร่ามัวจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ทำให้มองทางได้ไม่ชัด โดยเฉพาะช่วงกลางคืน ยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
เมาแล้วขับมีโทษทางกฎหมาย
- ถูกตัดแต้มใบขับขี่ -4 คะแนน ตั้งแต่ทำความผิดครั้งแรก
- ทำผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับ 5,000 – 20,000 บาท
- ทำผิดซ้ำข้อหาเดิม เมาแล้วขับภายใน 2 ปี ศาลลงโทษจำคุกและปรับ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท ถูกพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบขับขี
- เมาแล้วขับ มีผู้อื่นบาดเจ็บ เสียชีวิตโทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท เพิกถอนใบขับขี่ทันที
ฉะนั้นสงกรานต์นี้สนุกได้ไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอลล์ เลี่ยงการเมาแล้วขับ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ร่วมทางให้สงกรานต์นี้ไม่ใช่เทศกาลสุดท้ายของทุกคน
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก