รูมาตอยด์ VS เกาต์ โรคข้อที่พบมากในไทย อาการต่างกันอย่างไร?
โรคข้อเป็นปัญหาสุขภาพที่พบมากในไทย ทั้ง รูมาตอยด์ และเกาต์ ซึ่งมีความเจ็บปวดและอาการที่ต่างกัน แพทย์แนะรู้ทันอาการรักษาได้ตรงจุดลดความเจ็บปวดได้!
โรครูมาตอยด์ และ โรคเกาต์ เป็นโรคข้อที่พบมากในคนไทย ซึ่งสร้างความเจ็บปวดทรมานกับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และหลายคนยังเชื่อว่า เป็นโรคแบบเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วต่างกันโดยสิ้นเชิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยความแตกต่างของอาการระหว่างเกาต์และรูมาตอยด์จะช่วยให้รับมือได้ทันและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี ตรงจุดช่วยบรรเทาและชะลอโรคข้อได้อย่างตรงจุด เพราะการรักษาไม่เหมือนกัน

ความต่างของรูมาตอยด์ VS เกาต์
โรครูมาตอยด์
- เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานอย่างหนึ่งที่ไปทำลายและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อ
- ปวดได้ทุกจุดของร่างกาย ทั้งข้อนิ้วมือ ข้อไหล่ ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อศอก
- ปวดหลาย ๆ ข้อพร้อมกัน
- ปวด 2 ข้างพร้อมกัน
- มีการผิดรูปของข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อนิ้วเท้า
- ปวดข้อมากที่สุดช่วงตื่นนอน โดยเฉพาะอากาศเย็น
- การประคบเย็นทำให้ข้อที่เป็นปวดมากขึ้น
- ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่รีบรักษาโรค
รักษารูมาตอยด์
- การใช้ยา ปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์
- การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย
- การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ
- การผ่าตัด ทางเลือกในการรักษาในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว
หากป่วยเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์แล้วไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน ข้อจะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ และผิดรูปได้ นอกจากนี้อาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดพังผืดในปอด ดังนั้นการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และติดตามการรักษากับแพทย์เฉพาะทางโดยเร็วที่สุดเป็นสิ่งสำคัญ
โรคเกาต์
- เกิดจากการที่ร่างกายสะสมกรดยูริก (Uric Acid) มากเกินไป และไม่สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกได้ จึงตกผลึกตามข้อและอวัยวะต่าง ๆ
- ปวดส่วนล่างของร่างกาย โดยเฉพาะข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า นิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า
- ปวดข้อเดียวไม่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหลายข้อ
- ปวดข้างใดข้างหนึ่ง
- มีปุ่มกระดูกปรากฏที่ข้อ
- ปวดได้ทุกช่วงเวลา
- ถ้าข้ออักเสบรุนแรงแล้วไปประคบร้อนจะอักเสบเพิ่มขึ้น
- ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ
รักษาโรคเกาต์
- การรักษาโดยการไม่ใช้ยา
- เป็นการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรืออาหารที่มีรสหวานเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เลี่ยงการนอนดึก และลดความเครียด
- รักษาโรคร่วมและปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
- การรักษาโดยการใช้ยา
- การใช้ยาลดอาการอักเสบ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากโรค
- การใช้ยาลดระดับกรดยูริก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคโดยการลดระดับกรดยูริกในเลือดให้สมดุล
หากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องมักจะหายสนิทภายในระยะเวลา 1-3 วัน แต่หากละเลยปละปล่อยทิ้งไว้ไม่รับการรักษาอาการจะหายเองได้ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ และอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ในอนาคต
หากมีอาการปวดข้อแล้วไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรคเกาต์หรือรูมาตอยด์ควรสังเกตตนเองและรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและทำการรักษาโดยเร็ว ซึ่งแนวทางการรักษามีทั้งการใช้ยา การบริหารร่างกาย การพักผ่อน การผ่าตัด เพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดังเดิม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ