รู้จัก “เทคฮอร์โมน” ฮอร์โมนเอสโตรเจน–เทสโทสเตอโรน ต่างกันอย่างไร?
ฮอร์โมนข้ามเพศช่วยปรับร่างกายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ แบ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย ควรใช้ภายใต้การดูแลแพทย์ แนะวิธีเข้าใจลูกหลานให้สร้างบ้านให้เป็น Safe Zone อย่างแท้จริง
คำว่า “เพศ” ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศชายหรือเพศหญิงอีกต่อไป ไม่ได้ถือเป็นโรคที่ต้องรักษาหรือความผิดปกติทางจิตใจ แต่เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ และความเป็นตัวเองที่ควรได้รับการยอมรับและเคารพ
ฮอร์โมนข้ามเพศ (Gender-affirming hormone therapy) คือการใช้ฮอร์โมนเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวให้เข้ากับเพศที่ตัวเองต้องการเป็น ซึ่งช่วยเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ เช่น เสียง ผิวพรรณ กล้ามเนื้อ และระบบสืบพันธุ์

แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก
- ฮอร์โมนเพศหญิง (Feminizing Hormone Therapy): ใช้สำหรับผู้ที่เพศสภาพเป็นเพศชาย แต่ต้องการให้ร่างกายมีลักษณะเป็นหญิงมากขึ้น โดยใช้ “เอสโตรเจน”(Estrogen) และยาที่ช่วยกดฮอร์โมนเพศชาย
- ฮอร์โมนเพศชาย (Masculinizing Hormone Therapy): ใช้สำหรับผู้ที่เพศสภาพเป็นเพศหญิง แต่ต้องการให้ร่างกายมีลักษณะเป็นชายมากขึ้น โดยการเสริม “เทสโทสเตอโรน” (Testosterone)
วิธีการใช้ฮอร์โมนมีหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ยาทาผิวหนัง แผ่นแปะผิวหนัง และยาฉีด การเลือกวิธีการใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
ผู้หญิง VS ผู้ชาย ผลข้างเคียงของ “การเทคฮอร์โมน”
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน: อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน: อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดหนืด และปัญหาเกี่ยวกับไขมันในเลือด
วิธีการสนับสนุนในแบบที่เขาอยากเป็น
คำว่า “บ้าน” ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย เพื่อให้ลูกกล้าพูดและแสดงออกในสิ่งที่เขาคิด ทุกคำแนะนำและการสนับสนุนจากพ่อแม่จะช่วยให้ลูกเติบโตได้อย่างมั่นใจ โดยมีแนวทางดังนี้
- เปิดใจรับฟังโดยไม่ตัดสิน การฟังอย่างเปิดใจเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อลูกของเราบอกว่าเขาเป็นคนข้ามเพศ หลีกเลี่ยงการตัดสินหรือให้คำตอบในทันที ควรให้พื้นที่และเวลาแก่ลูกเพื่อพูดออกมาอย่างเต็มที่ การรับฟังโดยไม่ขัดแย้งจะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจและได้รับการยอมรับจากครอบครัว
- ให้อิสระในการเลือกเพศ การให้ลูกมีอิสระในการเลือกเพศที่ตัวเองต้องการ เป็นการแสดงความเคารพในตัวตนของเขา ไม่จำเป็นต้องบังคับให้เขาต้องเป็นตามที่คุณคิดว่า “เหมาะสม” การยอมรับและให้การสนับสนุน คือก้าวแรกในการสร้างความมั่นใจให้กับลูก
- เรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกัน การเดินทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกอาจต้องเรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกัน ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเพศ เปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็น การพูดคุย และเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้ทั้งครอบครัวเข้าใจและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
- สร้างบ้านให้เป็น Safe Zone บ้านควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและไม่มีการตัดสิน สร้างบรรยากาศที่ลูกสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกหรือการพูดถึงความรู้สึก การมี Safe Zone ที่บ้านจะช่วยให้ลูกรู้สึกอุ่นใจและไม่ถูกกดดัน
- ยอมรับและสนับสนุนไม่เปลี่ยนแปลง สนับสนุนอย่างแท้จริง คุณไม่จำเป็นต้องพยายามเปลี่ยนแปลงเขา แต่การอยู่เคียงข้างและยอมรับในสิ่งที่เขาเลือกจะทำให้เขามีกำลังใจในการเผชิญโลกภายนอก
- พูดคุยเรื่องความเครียดและความรู้สึก เพราะสังคมไม่ได้ง่ายเสมอไป โลกภายนอกอาจเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งการถูกตั้งคำถาม การถูกตีตรา หรือแรงกดดันจากสังคม สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ลูกเครียด กังวล พ่อแม่ควรเป็นคนแรกที่ลูกกล้าพูดคุยถึงความรู้สึกของตัวเอง การพูดคุยกันบ่อยๆ ไม่เพียงช่วยลดความเครียด แต่ยังทำให้ลูกมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง
การที่ลูกเปิดใจบอกเรื่องฮอร์โมนข้ามเพศ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทั้งสำหรับตัวลูกเองและครอบครัว ความรักและความเข้าใจคือสิ่งสำคัญที่สุด การให้กำลังใจและสนับสนุนอย่างถูกต้องจะช่วยให้ลูกเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจและมีความสุข และที่สำคัญคือ คุณไม่ได้อยู่คนเดียว มีหลายครอบครัวที่ผ่านเส้นทางนี้ และมีแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมให้คำปรึกษาแล้วในปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา