เคล็ดลับปรับ 5 พฤติกรรม แก้อาการอาหารไม่ย่อยในผู้สูงอายุ
ผู้ใหญ่ในบ้านชอบบ่นว่าจุกท้อง แน่นท้องบ่อยๆ รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย ว่าแต่อาหารไม่ย่อยนี่มีอาการแบบไหนนะ เผยเทคนิค แก้ปัญหาความไม่สบายตัวนี่ของผู้สูงอายุ
“อาหารไม่ย่อย” เป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างทานอาหารหรือหลังทานอาหารที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนมากจะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ โดย ผู้ที่มีลักษณะอาหารไม่ย่อยมักจะรู้สึกไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ มีอาการปวดท้องช่วงบน จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หรือมีอาการแสบร้อนกลางทรวงอกหลังทานอาหาร

อาการดังกล่าวจะดีขึ้นและสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณของโรคและการเจ็บป่วยในระบบย่อยอาหารได้ด้วย
สาเหตุอาหารไม่ย่อยในผู้สูงอายุ
ความจริงแล้วสาเหตุของการเกิดความไม่สบายตัวนี้มีได้หลายอย่าง ตั้งแต่พฤติกรรมการกินอาหาร เช่น
- กินอาหารไม่ตรงเวลา กินเร็ว กินมากไป ฯลฯ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ เครียด
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลมมากเกินไป
ปรับพฤติกรรมก็ป้องกันได้
การป้องกันอาการไม่ย่อยนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้วอาจต้องระวังเป็นพิเศษ เราสามารถปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตได้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเผ็ด หรืออาหารสำเร็จรูป
- ในแต่ละมื้อควรทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ
- ไม่ทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป หากรู้สึกว่าหิวบ่อยควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อ แทนการกินอาหารมากๆ ในมื้อเดียว
- หากิจกรรมทำให้ไม่ให้เครียด หรือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
“อาหารไม่ย่อย” ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพียงแค่รู้จักปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็สามารถห่างไกลโรคนี้ได้ไม่ยาก เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4