ไขข้อสงสัย มะเร็ง vs เนื้องอก ต่างกันอย่างไร? อาการแบบไหนต้องรีบเช็ก!
โรคมะเร็งเกิดจากเซลล์ผิดปกติแบ่งตัวรวดเร็ว ควบคุมไม่ได้ แพร่กระจายทั่วร่างกาย และมักไม่มีอาการในระยะแรก ควรป้องกัน ตรวจคัดกรอง และดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ
โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากการมีเซลล์ผิดปกติในร่างกายและเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ เซลล์เหล่านี้จึงเจริญลุกลามและแพร่กระจายทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด ได้แก่ ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก และไขกระดูก โดยมี “ปู” เป็นสัญลักษณ์ของโรคมะเร็ง คำว่า มะเร็ง หรือ Cancer มาจากภาษากรีก คือ Carcinos ซึ่งแปลว่า ปู (Crab)

เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งมีลักษณะลุกลามออกไปจากตัวก้อนเนื้อเหมือนกับขาปูที่ออกไปจากตัวปู ซึ่งคนแรกที่ใช้ศัพท์นี้ คือ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก
กระบวนการเกิดโรคมะเร็ง
เมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็ง เช่น สารเคมี ไวรัส รังสี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและในที่สุดเซลล์ปกติก็จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ถ้าระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถทำลายเซลล์นั้นได้ เซลล์มะเร็งก็จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นก้อนมะเร็งต่อไป
โรคมะเร็ง VS เนื้องอก
โรคมะเร็งต่างจากเนื้องอกตรงที่ก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งจะโตเร็วลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าหลอดเลือด กระแสเลือด และหลอดน้ำเหลืองหรือกระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยมักแพร่สู่ปอด ตับ สมอง กระดูก และไขกระดูก ดังนั้นโรคมะเร็งจึงเป็นโรคเรื้อรัง รุนแรง มีการรักษาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง ขณะที่เนื้องอก มีก้อนเนื้อผิดปกติจริง แต่โตช้า ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียง ไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดและทางกระแสน้ำเหลือง จึงเป็นโรคที่รักษาหายได้โดยการผ่าตัด
สาเหตุโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็ง แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอยู่หลายปัจจัย
สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย
- สารเคมีบางชนิด เช่น สารเคมีในควันบุหรี่และเขม่ารถยนต์ สารพิษจากเชื้อรา สารพิษที่เกิดจากเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม สีย้อมผ้า สารเคมีบางชนิดที่เกิดจากขบวนการทางอุตสาหกรรม รังสีต่าง ๆ รวมทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด
การติดเชื้อเรื้อรัง
- ไวรัสตับอักเสบชนิดบี มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งตับ
- ฮิวแมน แพพพิโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus หรือ HPV) อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก
- เอบสไตน์ บาร์ ไวรัส (Epstein Barr Virus) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งโพรงหลังจมูก
- เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรัย (Helicobacter Pylori) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งกระเพาะอาหาร
- พยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับ มีความสัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
สาเหตุภายในร่างกาย
- กรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ
- ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน
- ภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง
- การระคายเคืองที่เกิดซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
- ภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น
อาการน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยที่แตกต่างคือ มักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการต่าง ๆ นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตามอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ได้แก่
- มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1 – 2 สัปดาห์หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องตัน
- มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักจะแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อย ๆ
- ไฝ ปาน หูดที่โตเร็วผิดปกติหรือเป็นแผลแตก
- หายใจหรือมีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้)
- ไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด
- มีเสมหะ น้ำลาย หรือเสลดปนเลือดบ่อย
อาการโรคมะเร็ง
- อาเจียนเป็นเลือด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือเป็นมูกเลือด
- ท้องผูกสลับท้องเสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือมีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีไข้ต่ำ ๆ หาสาเหตุไม่ได้
- มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้
- ผอมลงมากใน 6 เดือน น้ำหนักลดลงจากเดิม 10%
- มีจ้ำห้อเลือดง่ายหรือมีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
- ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือแขน/ ขาอ่อนแรง หรือชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
- ปวดหลังเรื้อรังและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจร่วมกับแขน/ ขาอ่อนแรง
ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ การตรวจให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ (มักเป็นมะเร็งในระยะ 0 หรือระยะ 1) ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งในระยะนี้มีโอกาสรักษาได้หายสูงกว่าโรคมะเร็งในระยะอื่น ๆ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ การตรวจที่เมื่อพบโรคแล้ว ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีอัตรารอดจากมะเร็งสูงขึ้นหรือมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลงนั่นเอง ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ป้องกันโรคมะเร็ง
- กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มาก ๆ
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง/ การตรวจสุขภาพประจำปี
- หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ