5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ "โรคความดันโลหิตสูง"
โรคความดันยังมีหลายเรื่องที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้อยู่ เพื่อการดูแลสุขภาพที่ตรงจุดจึงควรทำความเข้าใจให้มากขึ้นกับ 5 ข้อต่อไปนี้
โรคความดันเลือดสูงคือ สภาวะของระดับความดันเลือดที่สูงกว่าระดับปกติ โดยจะวัดค่าความดันได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องได้รับการควบคุมตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมอง โรคไตเสื่อม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคนี้จะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งเรื่องที่มักเข้าใจผิดมีดังนี้
"ความดันโลหิตสูง" อย่าปล่อยไว้ อันตรายกว่าที่คิด
ปิดโอกาสโรคร้าย แนะ 5 ทำ 5 ไม่ ป้องกันมะเร็ง
1.ความดันโลหิตสูงพบได้ในผู้สูงอายุเท่านั้น
ตอบ (ไม่จริง)
ความดันโลหิตสูงมี 2 ประเภท ได้แก่ ชนิดที่ทราบสาเหตุชัดเจน ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นมาก่อนและมักต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในส่วนของช่องอก รวมถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี รวมทั้งเด็กที่มีสภาวะดังกล่าวและชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม โดยเกิดจากปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน ทานอาหารเค็ม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เครียด เป็นต้น
2.วัดความดันโลหิตเฉพาะเวลาพบแพทย์เท่านั้น
ตอบ (ไม่จริง)
ควรมีการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากค่าความดันโลหิตที่วัดได้ในแต่ละครั้งบ่งชี้เพียงระดับความดันโลหิตในขณะนั้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น เวลาของวัน อารมณ์ และกิจกรรมที่เพิ่งทำ การวัดความดันโลหิตเพียง 1-2 ครั้งต่อปีเมื่อไปตรวจร่างกายประจำปี จึงไม่เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยโรค ด้วยเหตุนี้การตรวจวัดความดันโลหิตจำเป็นต้องทำเป็นประจำเพื่อให้เห็นภาพรวมและแนวโน้มที่ชัดเจน
3.ถ้าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แปลว่าไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
ตอบ (ไม่จริง)
โรคความดันโลหิตสูง เปรียบเหมือนฆาตกรเงียบ หากความดันสูงเล็กน้อยหรือปานกลาง มักไม่มีอาการเตือนให้รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการเหล่านี้ได้ เช่น ปวดศีรษะตุบๆบริเวณท้ายทอย เวียนศีรษะตอนตื่นนอนใหม่ๆ ตาพร่ามัว มีเลือดกำเดาไหล เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก
เผย 5 ข้อสุดฮิตที่ทำให้ "ลดน้ำหนัก" ไม่สำเร็จ
แพทย์แนะ 5 วิธีไกลโรค รับมืออากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
4.ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องกินยาลดความดันเท่านั้นจึงจะควบคุมโรคได้
ตอบ (ไม่จริง)
การควบคุมรักษาความดันโลหิตสูงให้ได้ประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียด และงดอาหารรสเค็มจัด
5.ค่าความดันโลหิตที่วัดได้ขณะอยู่โรงพยาบาลมีความแม่นยำที่สุด
ตอบ (ไม่จริง)
ค่าความดันโลหิตที่วัดได้ที่โรงพยาบาลอาจไม่ตรงกับค่าความดันโลหิตที่แท้จริงของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดจากความกังวลตื่นเต้นเมื่อพบแพทย์ จึงวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลได้ค่าที่สูงกว่าระดับที่วัดด้วยเครื่องดิจิทัลเองที่บ้าน ฉะนั้นการตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ทราบถึงระดับความดันปกติที่แท้จริง
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี