4 เหตุผลสำคัญ ยิ่งออกกำลังกายหนัก ยิ่งต้องตรวจสุขภาพ
ตรวจสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของคนมีโรค แต่คนที่แข็งแรงและชอบออกกำลังกายก็ควรตรวจเหมือนกัน
ในยุคที่คนหันมารักสุขภาพมากขึ้น สนใจการกินดีนอนดี แต่ยังมีอีกเรื่องที่หลายคนมักเข้าใจคลาดเคลื่อน นั่นก็คือ คนที่ป่วยบ่อย ความเสี่ยงโรคต่างๆ เยอะ หรือไม่ค่อยออกกำลังกาย ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่จริงๆ แล้ว คนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่เคยเจ็บป่วย หรือชอบออกกำลังกายเป็นประจำ การตรวจสุขภาพร่างกายก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย
นี่คือ 4 เหตุผลว่าทำไมคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือออกกำลังกายหนักๆ ยิ่งต้องรักการตรวจสุขภาพ
8 เทคนิคคุม "ความดันโลหิตสูง" กินดีเสริมร่างกาย จำกัดโซเดียม
แนะอาหารผู้ป่วย "ลองโควิด" (Long COVID) เสริมวิตามินแร่ธาตุฟื้นฟูร่างกาย
1.เพราะการออกกำลังกายหนัก...ทำกล้ามเนื้อหัวใจหนา เสี่ยง “หัวใจวายเฉียบพลัน”
ในขณะที่เราออกกำลังกาย หัวใจจะมีการสูบฉีดเลือดมากขึ้นกว่าปกติ อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นกว่าเดิม ความดันโลหิตเพิ่มสูงข้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิด “กล้ามเนื้อหัวใจหนา” ขึ้นบริเวณห้องล่างซ้ายและล่างขวา ซึ่งเป็นกลไกการปรับตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อต้องทำงานหนักนั่นเอง
โดยพบว่า การออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งที่เน้นเพาะกล้ามเพียงอย่างเดียว สามารถเพิ่มโอกาสให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาขึ้นได้มากกว่าการออกกำลังกายประเภทอื่น ในขณะที่การปั่นจักรยานมาราธอนหนักๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขยายออกและหนาขึ้นในคราวเดียวกัน ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดและการทำงานของหัวใจ สาเหตุสำคัญของการเกิด “หัวใจวายเฉียบพลัน” ได้ ซึ่งการตรวจหัวใจ EKG และ Echo จะช่วยให้รู้ทันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาได้
2.เพราะการออกกำลังกายหนัก...ส่งผลต่อ(ค่า)ตับ เลยต้องเช็กร่างกายให้ชัวร์!
ระดับค่า SGOT หรือ AST ที่ได้จากการตรวจตับ อาจมีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายหนักเกินไป ใช้แรงมาก เช่น การเวทเทรนนิ่งเพื่อเล่นกล้าม ที่ก่อให้เกิดการตายของเซลล์กล้ามเนื้อ...ซึ่งนับว่าเป็นกลไกที่ปกติ! แต่เพราะมีการออกกำลังกายหนักๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่อง ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเก่าตายเร็ว เซลล์ใหม่ยิ่งเกิดขึ้นทดแทนเร็ว ระดับค่า SGOT หรือ AST ที่เป็นเอนไซม์สร้างขึ้นจากความเสียหายของตับ, เม็ดเลือดแดง, หัวใจ, กล้ามเนื้อ, ตับอ่อน หรือไต จึงสูงขึ้นด้วย
แต่...เราจะเห็นได้ว่า ค่านี้ไม่ได้มีที่มาที่ไปแค่จากความเสียหายของกล้ามเนื้อ อาจเป็นการบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ รวมถึงตับเองด้วย เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ออกกำลังกายหนัก แล้วผลตรวจค่า SGOT หรือ AST สูง อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นแค่ผลจากการออกกำลังกาย แต่ควรงดออกกำลังกายแล้วกลับมาตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าค่า SGOT หรือ AST ที่สูงขึ้นเกิดจากอะไรกันแน่ เพื่อจะได้เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาที่ตรงจุดก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน
3.เพราะการออกกำลังกายหนัก เพิ่มความเสี่ยง “ไตวาย” ได้
การออกกำลังกายหนักส่งผลต่อหัวใจ...อันนี้อาจเคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่การออกกำลังกายหนักเกินไป แล้วส่งผลต่อ “ไต” นี่สิ! อาจทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าเกี่ยวข้องกันได้ยังไง? ซึ่งการออกกำลังกายที่ออกแรงมาก หรือการออกกำลังกายหนักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การวิ่งมาราธอน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิด “ภาวะกล้ามเนื้อสลาย” หรือ Rhabdomyolysis เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อส่วนที่เสียหายสลายตัวแล้วทำการปล่อยสารที่อยู่ภายในเซลล์เข้าสู่กระแสเลือด หากไม่รุนแรง...แค่พักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ ก็ดีขึ้น แต่หากอาการรุนแรงอาจส่งผลทำให้ไตวายได้
8 พฤติกรรมทำลาย "ข้อเข่า" รู้แล้วรีบปรับเลี่ยงป่วยก่อนวัยอันควร
รู้ลึกอาการ "ข้อเข่าเสื่อม" โรคที่พบบ่อยในกลุ่มสูงวัย-นักกีฬา
4.เพราะออกกำลังกายหนัก...ไม่วอร์มอัพ เวิร์คเอ้าท์ผิดวิธี นำไปสู่ “โรคข้อเสื่อม”
หลายคนหันมาใส่ใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย แต่อาจลืมไปว่า “การไม่วอร์มอัพ” อาจทำให้การออกกำลังกายส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า ซึ่งหนึ่งในผลข้างเคียงจากการออกกำลังกายโดยขาดการวอร์มอัพนั้น คือ “กระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ถูกทำร้าย” โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกายหนักๆ ก่อให้เกิดแรงกด เกิดการเสียดสีกันระหว่างข้อต่างๆ ซึ่งการบาดเจ็บซ้ำๆ เรื้อรังนานๆ ไม่ได้รับการดูแลรักษา นำไปสู่การสึกและเสื่อมของข้อต่างๆ เช่น ข้อเข่า หรือข้อไหล่ ได้
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ สัปดาห์ละ 150 ชั่วโมง หรือครั้งละ 30 นาที จำนวน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับใครที่ออกกำลังกายหนักมากเกินไปก็ควรปรับลดให้พอเหมาะ อย่าปล่อยให้การออกกำลังกายที่ควรเป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี...กลายเป็นการทำร้ายสุขภาพให้พังลงแทน
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท