เมื่อลูกน้อยเป็น "เบาหวาน" หมอแนะวิธีดูแลให้กับพ่อแม่
โรคเบาหวานในเด็กรับมือและดูแลได้ หากพ่อแม่เข้าใจและอธิบายให้ลูกน้อยปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี
หนึ่งในโรคที่พบได้ในเด็กและพ่อแม่มักคาดไม่ถึง คือ “โรคเบาหวานในเด็ก” ซึ่งพบได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ปี ทำให้พ่อแม่บางรายขาดความรู้ความเข้าใจและกำลังเกิดคำถามว่า “หากลูกน้อยป่วยเป็นเบาหวาน เราควรจะดูแลยังไงดี” โรคนี้จะรักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ลูกจะสามารถหายจากโรคเบาหวานได้ไหม ทุกความข้องใจ..เรามีคำตอบจาก แพทย์หญิงนวลผ่อง เหรียญมณี กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคต่อมไร้ท่อ เบาหวาน และการเจริญเติบโต ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 มาฝากกัน
"เบาหวาน" เรื่องที่คุณแม่ต้องระวัง ลดเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
สัญญาณอันตราย "ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ" แก้ไขไม่ทันเสี่ยงโคม่า
“เบาหวานในเด็ก” รักษาได้ด้วยวิธีไหน...และสามารถหายขาดได้ไหมนะ
การรักษา โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็ก
- สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะเลือดเป็นกรด คีโตนในเลือดสูง การรักษาคือการให้ฮอร์โมนอินซูลินเข้าทางกระแสเลือด ซึ่งกรณีนี้ผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องไอซียู เนื่องจากการให้ฮอร์โมนอินซูลินทางกระแสเลือดต้องมีการเฝ้าระวัง เพราะอาจให้ในปริมาณที่เยอะเกินหรือน้อยเกินไปได้ หลังจากนั้น หากค่าความเป็นกรดในเลือดดีขึ้น ค่าคีโตนในเลือดลดลง แพทย์ก็จะปรับเปลี่ยนการรักษามาเป็นการฉีดฮอร์โมนอินซูลินใต้ผิวหนังแทน
และด้วยสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มาจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินตลอดชีวิต แต่สามารถปรับลดปริมาณลง หากผู้ป่วยมีการคุมอาหารและออกกำลังกายร่วม จนสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในช่วงแรกเริ่มของการรักษา แพทย์จะมีการให้ยากินร่วมกับการออกกำลังกายและคุมอาหาร หากผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต...กลุ่มนี้จะมีโอกาสหยุดการใช้ยาได้ ในกรณีที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ระยะเริ่มต้น
เมื่อ “ลูกเป็นเบาหวาน” พ่อแม่ควรดูแลและรับมือยังไงดี
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกน้อยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 คุณหมอได้อธิบายว่า การดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้จะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะในเรื่องของอาหาร ซึ่งคุณหมอได้แนะนำหลักในการดูแลว่า…
- นับสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรต เพราะจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถคำนวณปริมาณอินซูลินที่ให้กับลูกได้ โดยทางโรงพยาบาลจะมีนักโภชนาการให้คำแนะนำตรงส่วนนี้ ในการแบ่งและนับสัดส่วนได้ถูกต้องเหมาะสม ต้องรู้ถึงปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนั้นๆ ด้วย เพราะไม่ควรงดอาหารในเด็ก แต่ควรให้ในสัดส่วนที่พอเหมาะต่อการเจริญเติบโต
- เจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล เพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับการเจาะดูน้ำตาลในเลือดนั้น ควรเจาะก่อนอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน เพื่อคำนวณปริมาณอินซูลินได้ถูกต้อง
- ฉีดยาอินซูลิน ก่อนมื้ออาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน ปัจจุบันมีการให้อินซูลินในรูปแบบ insulin pump เพื่อไม่ต้องฉีดยาบ่อย
- พ่อแม่ต้องรู้จักและสอนลูกน้อยให้รับมือ กับ “ภาวะน้ำตาลต่ำ” ภาวะน้ำตาลต่ำ เด็กจะมีอาการเหงื่อออก ใจสั่น จะเป็นลม หากวัดน้ำตาลในเลือดดูจะพบว่ามีค่าต่ำกว่า 60
ซึ่งเด็กวัยนี้ยังต้องมีการทำกิจกรรม มีการเล่น ตามปกติของช่วงวัย พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกน้อยรู้ว่า “ก่อนทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหนักๆ ควรมีการวัดระดับน้ำตาลก่อนออกกำลังกาย หรือควรรู้ว่าต้องกินคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ”
10 ความเชื่อเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ที่หลายคนอาจยังเข้าใจผิด
"อ้วน" เมื่อไรเสี่ยง "เบาหวาน" เมื่อนั้น แนะ 3 อ. ไกลโรค
อีกเรื่องสำคัญที่คุณหมอแนะนำ
การสอนลูกน้อยให้รู้จักจัดเตรียมน้ำหวาน ลูกอม หรือขนมปัง เผื่อในระหว่างที่ออกกำลังกายหากเกิดภาวะน้ำตาลต่ำขึ้นมา จะได้มีตัวช่วยเหล่านี้ในการกระตุ้นระดับน้ำตาลในเลือดให้ขึ้นมาสู่ระดับปกติ
และเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือค่าน้ำตาลต่ำกว่า 60 คุณหมอแนะนำว่า… อาจเลือกกระตุ้นน้ำตาลด้วยลูกอมซัก 2 เม็ด โดยให้กินทีละเม็ด หากอาการดีขึ้นตั้งแต่เม็ดแรก เช่น ค่าน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 60-70 อาจไม่ต้องกินลูกอมเม็ดที่ 2 แต่เปลี่ยนเป็นขนมปังเพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ในระดับปกติ
หรือหากมีน้ำผลไม้แบบกล่องอยู่ ก็สามารถดื่มน้ำผลไม้ ½ กล่องแทนลูกอมได้ และสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก! คือต้องให้ผู้ป่วยกินในปริมาณที่พอดี เพราะถ้ามากไปน้ำตาลในเลือดก็จะกลับมาสูงเกินได้
เพราะการคุมอาหารในเด็กจะมีความยากกว่าในผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องอธิบายให้ลูกน้อยเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานที่เป็นอยู่ เข้าใจถึงความสำคัญในการดูแลเรื่องอาหาร การตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือด พร้อมทั้งเข้าใจ...ว่าเขาสามารถควบคุมโรคนี้ได้หากดูแลตัวเองดีพอ หรืออยู่ร่วมกับโรคนี้ได้โดยที่ยังสนุกกับการใช้ชีวิตในทุกวัน
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท