เช็กปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มต่างๆ กินมากเกินส่งผลเสียอะไรบ้าง
เช็กปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนเติมความหวานเพิ่ม เพราะถ้าได้รับเกินเกณฑ์ 6 ช้อนชาต่อวันแล้ว เสี่ยงเสพติดจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพมากมาย
การดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หากบริโภคเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้เราเสพติดรสหวานได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาของโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต
โดย ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกาย องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่า ไม่ควรกินเกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม
อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ เรามักได้รับน้ำตาลมาจากเมนูเครื่องดื่มสะมากกว่า หากคุณไม่ได้เป็นคนเติมน้ำตาลลงบนจานอาหารแทบทุกมื้อ แต่เครื่องดื่มแต่ละชนิดนั้น มีปริมาณเท่าไร เพื่อที่เราจะได้วางแผนการบริโภคได้ถูก
วันชานมไข่มุก “ชานมไข่มุก อร่อยอันตราย”
ไขข้อสงสัย “การยืนขึ้นจากเก้าอี้” ทำไมถึงยาก เมื่ออายุมากขึ้น
ทีมข่าว นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมข้อมูลมาจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ โรงพยาบาลกรุงเทพ มาฝากกันดังนี้!
ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มชนิดต่างๆ
- ชาเขียว สูตรเติมน้ำตาล ปริมาตร 420-500 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 5-18 ช้อนชา
- น้ำอัดลม ปริมาตร 325-345 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 8-9 ช้อนชา
- นมถั่วเหลือง ปริมาตร 180-300 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 2-7 ช้อนชา
- นมช็อกโกแลตปรุงแต่ง ปริมาตร 180-225 มิลลิตร มีปริมาณน้ำตาล 2-7 ช้อนชา
- น้ำผลไม้ บรรจุกล่อง ปริมาตร 200 มิลลิตร มีปริมาณน้ำตาล 6 ช้อนชา
- กาแฟกระป๋อง ปริมาตร 180 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา
- นมสด ยูเอชที ปริมาตร 225-250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 2-4 ช้อนชา
- กาแฟซอง 3 in 1 ปริมาตร 1 ซอง มีปริมาณน้ำตาล 2.5 ช้อนชา
- ชานมไข่มุก น้ำหนัก 173-451 กรัม มีปริมาณน้ำตาล 4-18.5 ช้อนชา
จะเห็นได้ว่าแค่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เพียง 1 แก้ว บางชนิดก็ได้รับปริมาณน้ำตาลเกินแล้ว หรือเกือบเกิน ซึ่งปริมาณน้ำตาลนี้ยังไม่ได้นับรวมมื้ออาหารของเราที่มีการเติมน้ำตาลลงไปด้วย แนะนำว่าให้แบ่งดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ หรือดื่มไม่เกิน 1 แก้วจะดีที่สุด ส่วนในแต่ละมื้ออาหาร ขอให้ชิมก่อนเติมน้ำตาลลงไป
เทคนิคการลดน้ำตาล
สำหรับคนที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เกิน 1 แก้วต่อวัน หรือพอลองมาคำนวณดูแล้วตัวเองอาจกินน้ำตาลมากเกินไป ถ้าหากคุณกำลังมองหาวิธีการลดน้ำตาล สามารถทำได้ดังนี้
- ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง
- ไม่เติมน้ำตาลหรือปรุงรสหวานในอาหารที่บริโภค
- หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน เลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย
- ควรเลือกบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ หรือบริโภคแต่น้อย
- สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ที่ให้ข้อมูลปริมาณน้ำตาล
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลากหลาย
- เวลากินก๋วยเตี๋ยวแห้ง ให้ลองเปลี่ยนมาแทนแบบน้ำแทน ซึ่งเวลาเรากินก็กินแต่เส้นและเนื้อสัตว์เข้าไป โดยไม่ต้องกินน้ำก๋วยเตี๋ยวเข้าไปด้วย
อันตรายจากการกินน้ำตาลมากเกินไป
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อมูลว่า
ไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
การกินน้ำตาลปริมาณมาก เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เนื่องจากน้ำตาลหลายชนิดที่เรากินเข้าไปมักจะเข้าไปเก็บสะสมไว้ที่ตับในรูปของไกลโคเจน แต่เมื่อมีปริมาณมากจนเกินไปจะทำให้ตับส่งกรดไขมันไปตามกระแสเลือด โดยจะทำให้เข้าไปสะสมตามหน้าท้อง ก้น สะโพก หรือต้นขา จนทำให้มีรูปร่างอ้วนหรือมีไขมันส่วนเกินจนไม่น่ามองนั่นเอง
ทำให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรง
น้ำตาลที่มีส่วนผสมของซูโครส ถือว่าเป็นอาหารชั้นดีให้กับเหล่าแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ คราบพลัก หรือเหงือกอักเสบได้ นอกจากนี้ ก็ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระดูพรุนได้อีกด้วย
ภาวะเลือดเป็นกรด
การกินน้ำตาลที่มากเกินไป โดยเฉพาะน้ำตาลเชิงเดี่ยว เช่น น้ำตาลทราย หรือน้ำตาลฟรุกโตส น้ำตาลดังกล่าวจะเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อร่างกายรับมากจนเกินไปจะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดส่งผลให้ร่างกายเสียความสมดุลและระบบการทำงานของร่างกายล้มเหลวได้
ความดันเลือดสูง
น้ำตาลถือเป็นสารให้ความหวานที่มีไขมันจำนวนมาก โดยสารเหล่านี้จะทำให้เกิดกรดไขมันสะสมตามอวัยวะภายในที่สำคัญอย่างเช่น หัวใจ ตับ หรือไต ซึ่งทำให้การทำงานของอวัยวะดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะถูกไขมันอุดตันจนทำให้เกิดอาการความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้
ทำให้เกิดความเครียด
หลายคนอาจจะคิดว่าการกินน้ำตาลจำนวนมากมักจะทำให้รู้สึกคลายเครียด และแม้ว่าน้ำตาลจะช่วยลดสารคอร์ติซอลที่ทำให้เกิดความเครียดได้ก็ตาม แต่ผลลัพธ์ที่ตามมากลับจะยิ่งทำให้คุณเครียดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
สาเหตุของโรคร้าย
น้ำตาลถือเป็นตัวร้ายที่ทำให้ร่างกายเกิดโรคได้หลายชนิด เช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ตะคริว สิว ผื่น กระ แผลพุพอง แผลริดสีดวงทวารหนัก เบาหวาน วัณโรค โรคหัวใจ และมะเร็งตับ ซึ่งอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการกินน้ำตาลที่มากเกินไปทั้งสิ้น
ง่วงนอนมากขึ้น
หลายคนชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มเพื่อแก้ง่วงในช่วงเวลากลางวัน รู้ไว้เลยว่าไม่ได้ช่วยทำให้คุณหายง่วงได้อย่างแท้จริง เพราะการกินน้ำตาลหรืออาหารที่มีรสหวานจะทำให้การทำงานของสมองช้าลง ไม่สดชื่น ยิ่งเป็นเวลาในช่วงบ่ายด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้คุณง่วงนอนมากขึ้นเป็นสองเท่าเลยทีเดียว
ทำให้แก่เร็ว
น้ำตาลยังส่งผลกระทบต่อด้านผิวพรรณหรือความงามอีกด้วย เพราะเมื่อเรากินน้ำตาลเข้าไป มันจะเข้าไปทำลายโครงสร้างของคอลลาเจนและอีลาสตินที่อยู่ในชั้นผิว จนทำให้เซลล์ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น ผิวไม่กระชับเต่งตึงดังเดิม ส่งผลให้ผิวเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นเร็วนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการกินน้ำตาลมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายมากมาย ดังนั้นเราควรควบคุมพฤติกรรมการกินหวานของให้เราพอดีตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อถนอมร่างกายของเราให้อยู่ด้วยกันไปได้นานๆ อย่างแข็งแรงและมีความสุข
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, โรงพยาบาลกรุงเทพ และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ