เปิด 10 ลักษณะเห็ดพิษหน้าฝน ไม่รู้จัก ไม่ควรเก็บกิน อันตรายถึงชีวิต
เห็ดป่าแม้ดูน่ากินแต่อาจมีพิษร้ายแรง ควรหลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดที่ไม่รู้จัก เพราะพิษบางชนิดต้มสุกแล้วก็ยังอันตรายถึงชีวิตได้
เห็ด (mushroom) คือสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรเห็ดรา ที่มีลักษณะเป็นดอกหรือโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มองเห็นได้ มีทั้งชนิดที่กินได้และมีประโยชน์ รวมทั้งมีชนิดที่เป็นพิษ โดยเห็ดป่าจัดเป็นอาหารที่นิยมรับประทานในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูเห็ดหลาก ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่าเพื่อนำมาประกอบอาหารรับประทาน และขายในตลาดท้องถิ่น ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ และบางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย!

10 ลักษณะของเห็ดพิษ
- เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นปุ่มขรุขระ
- เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก
- เห็ดที่มีขนหรือหนามเล็ก ๆ บริเวณโคน
- เห็ดที่มีกลิ่นรุนแรงเมื่อดอกแก่
- เห็ดที่หมวกเห็ดมีสีน้ำตาล หรือสีสันฉูดฉาดเพื่อล่อเหยื่อ
- เห็ดที่มีลักษณะสีขาวทั้งดอก
- เห็ดที่เกิดใกล้กับมูลสัตว์
- เห็ดที่หมวกเห็ดมีลักษณะเป็นรูป ๆ แทนที่จะเป็นช่อง ๆ คล้ายครีบปลา
- เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมอง หรืออานม้า บางชนิดต้มแล้วกินได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง
- เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่เกิดบนมูลสัตว์ หรือใกล้กับมูลสัตว์
เห็ดไข่หงษ์
หากรับประทานเข้าไปอาจคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ความดันต่ำ และรุนแรงถึงชีวิต
วิธีการคัดแยก
- เห็ดไข่หงษ์ รูปกลม สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง ด้านบนแบนเล็กน้อย ผิวแตกเป็นเกล็ดใหญ่ คล้ายเห็ดเผาะแต่มีราก
- เห็ดเผาะ ผิวเรียบสีขาวนวล มีรอยเปื้อนดิน ไม่มีราก เมื่ออายุมากขึ้นนอกจะเป็นน้ำตาลหรือเกือบดำเนื้อเหนียว
เห็ดระโงกหินหรือเห็ดระงาก และเห็ดระงากหมวกสีดำ
สร้างพิษกลุ่ม Amatoxins เมื่อรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้ผู้ป่วยจะเกิดอาการภายใน 6-24 ชั่วโมง มีอาการท้องร่วง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนแสดงอาการประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นมีอาการตับและไตวายและอาจเสียชีวิต
วิธีการคัดแยก
- ระโงกหินหรือเห็ดระงาก และเห็ดระงากหมวกสีดำ ผิวหมวกเห็ดบริเวณขอบหมวกไม่มีริ้วคล้ายซี่หวี และก้านตันตลอดแนวเมื่อผ่าก้านเห็ด
- เห็ดระโงกขาวที่รับประทานได้ ผิวหมวกเห็ดสีขาวครีม/สีเหลือง ผิวเรียบมันวาว ขอบหมวกมีริ้วคล้ายซี่หวีและก้านกลวงตลอดแนวเมื่อผ่าก้านเห็ด ในกรณีของเห็ดระโงกไส้เดือนหรือเห็ดขี้ไก่เดือน ผิวหมวกเห็ดสีน้ำตาลเข้มกลางหมวกแล้วค่อยๆจางลงมาที่ขอบ ผิวเรียบ ขอบหมวกมีริ้วคล้ายซี่หวีและก้านกลวงตลอดแนวเมื่อผ่าก้านเห็ด
เห็ดถ่านเลือด
จะเกิดอาการภายใน 2 ชั่วโมง มีอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ต่อมาหลังจาก 6 ชั่วโมง มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต
วิธีการคัดแยก
- เห็ดถ่านเลือด หมวกเห็ดทรงกรวยขนาดใหญ่ สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ครีบห่างสีเหลืองอมน้ำตาล และมีน้ำยางสีแดงเมื่อผ่าดอกเห็ด
- เห็ดถ่านเล็กที่รับประทานได้ หมวกเห็ดรูปทรงชามคว่ำขนาดเล็ก สีขาวอมเทาถึงดำ ครีบถี่สีขาว และไม่พบน้ำยางสีแดงเมื่อผ่าดอกเห็ด
เห็ดหมวกจีน และเห็ดคันร่มพิษ
มีลักษณะคล้ายเห็ดโคนหรือเห็ดปลวกที่กินได้หลายชนิด และเห็ดหมวกจีนมีพิษบางชนิดมักขึ้นใกล้กับจอมปลวกเหมือนกับเห็ดโคนทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นเห็ดโคนกินได้และเกิดเหตุการณ์บ่อยครั้ง เมื่อรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้ผู้ป่วยจะเกิดอาการภายใน 30 นาที-2 ชั่วโมง มีอาการเหงื่อออกมาก น้ำตาไหล น้ำลายไหล ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงชีพจรเต้นช้า และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในครึ่งชั่วโมง ส่วนเห็ดคันร่มพิษสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดสภาวะหายใจลำบาก
วิธีการคัดแยก
- เห็ดหมวกจีน ผิวหมวกเห็ดหยาบ กลางหมวกเห็ดเป็นปุ่มนูน ขอบหมวกฉีกเมื่อบานครีบมีสีเหลืองอมน้ำตาล และสีชมพูอมน้ำตาล
- เห็ดคันร่มพิษ ผิวเรียบ กลางหมวกเห็ดเป็นปุ่มนูน ครีบมีสีชมพูอมน้ำตาล
เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
เมื่อรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้ผู้ป่วยจะเกิดอาการภายใน 15 นาที- 4 ชั่วโมง ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง และท้องเสีย
วิธีการคัดแยก
- เห็ดหัวกรวดครีบเขียวหมวกเห็ดทรงชามคว่ำ บริเวณกลางหมวกมีเกล็ดขนาดใหญ่ ครีบมีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนเทาเมื่อแก่ และก้านมีวงแหวนขอบสองชั้น
ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับเห็ด!
- เห็ดที่มีรอยแมลงกัดเป็นเห็ดกินได้
- ต้มเห็ดกับข้าว แล้วข้าวไม่เปลี่ยนสี เป็นเห็ดกินได้
- ต้มเห็ดกับหัวหอม น้ำเป็นสีดำ เป็นเห็ดพิษ
- ต้มเห็ดแล้วใช้ช้อนเงินคน ถ้าช้อนเปลี่ยนสี เป็นเห็ดพิษ
การป้องกันการกินเห็ดพิษสามารถทำได้อย่างไร
- ควรรับประทานเห็ดที่รู้จักและต้องมั่นใจจริงๆว่าเป็นเห็ดที่รับประทานได้
- ควรปรุงเห็ดให้สุกก่อนรับประทาน โดยเฉพาะเห็ดระโงกในระยะไข่
- ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ด
- อย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุราเพราะเห็ดบางชนิดจะปรากฎอาการพิษเมื่อดื่มแอลกอฮอล์
- เมื่อเกิดอาการพิษจากการรับประทานเห็ดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ขอหลีกเลี่ยงการเก็บและกินเห็ดป่า เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่ากินได้ ไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี เนื่องจากเห็ดจะดูดซับพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด และไม่กินเห็ดดิบ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้ พึงระลึกเสมอว่าเห็ดพิษทุกชนิดแม้ทำให้สุกด้วยความร้อนก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ และที่สำคัญ คือ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่ซื้อ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข,มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ สพท.