รู้จัก PTSD สภาวะเครียด หลังเจอเหตุกระทบจิตใจขั้นรุนแรง แพทย์เตือนเด็กก็เป็นได้
เอฟเฟคของเหตุการณ์รุนแรงไม่ใช่เฉพาะจบแค่ ณ. ขณะนั้น แต่รวมถึงผลทางจิตใจที่จะตามมาภายหลังด้วย รู้จัก โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) สภาวะป่วยทางจิตใจหลังความเจ็บปวด
หลายคนเคยได้ยิน โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ สภาวะป่วยทางจิตใจและเครียดภายหลังต้องเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงและสะเทือนจิตใจและรอดชีวิตมาได้ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและรอดชีวิตมาได้ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนต้องจมอยู่กับความทุกข์ทรมานเช่น
- ภัยธรรมชาติต่างๆ
- อุบัติเหตุร้ายแรง รวมถึงอุบัติภัยหมู่
- การก่อจราจล การต้องเผชิญกับสงคราม เหตุสังหารหมู่
- การฆาตกรรม บุคคลอันเป็นที่รักฆ่าตัวตาย
- การถูกทำร้ายร่างกาย คุกคามทางเพศ
- ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
3 วิธีเอาตัวรอด หนี-ซ่อน-สู้ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย
แยกให้ออก! เด็กติดเกม หรือ จิตเวช ความเครียดจากความกดดันต้องรีบรักษา!
อาการของ PTSD คือ มี 2 ระยะระยะที่ 1 เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์ เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดฉับพลัน ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ ASD สามารถหายเองได้ หรือไม่เป็นอะไรเลยในเดือนแรก แต่หลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือนอาการนี้ยังไม่หายไปจะเรียกว่า PTS
ระยะที่ 2 คือหลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือน ที่เรียกว่า PTSD อาจแสดงอาการออกมาได้ ซึ่งอาจมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้
- คิดว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น (Re-experiencing) ไม่สามารถหลุดพ้นและปล่อยวางจากเหตุการณ์เหล่านี้ คิดวนเวียนถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ หรือนึกถึงความทรงจำเลวร้ายนั้นขึ้นมาเอง ทำให้รู้สึกเหมือนต้องไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำไปซ้ำมาจนตกใจกลัว (Flashback) การฝันถึงซ้ำๆ
- กลัวและหลีกเลี่ยง (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์หลังจากประสบเหตุนั้นๆ หลีกเลี่ยงที่จะคิดและรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ไม่กล้าเผชิญกับปัจจัยสิ่งเร้าภายนอกที่จะทำให้นึกถึงเหตุการณ์ เช่น กลัวสถานที่ สถานการณ์ กิจกรรม บทสนทนา
- มีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative alteration of cognition and mood) ไม่มีความสุขแปลกแยกจากผู้อื่น มีการตีความขยายออกไปในทางลบ บางรายไม่สามารถจดจำส่วนที่สำคัญของเหตุการณ์นั้นได้ทำให้อาจมีความคิดบิดเบือนจากสาเหตุและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาของเหตุการณ์ ซึ่งความคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การตำหนิตัวเองและคนอื่น ส่งผลให้มีอารมณ์ฝังใจในทางลบ ขี้โกรธ ขี้อาย ขี้กลัว รู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา
- อาการตกใจและหวาดกลัว (Hyperarousal symptoms) เป็นอาการคอยจับจ้อง คอยระวังตัว ตื่นตัว และมักมีอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย โกรธง่าย รวมถึงสะดุ้งและผวาง่ายขึ้นกับเสียงดังๆ ส่งผลให้ขาดสมาธิ นอนหลับไม่สนิท หลับยาก หรือชอบสะดุ้งตื่นในขณะที่นอนหลับ
ถ้าหลังจากเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ผ่านไปแล้ว 4 สัปดาห์แต่ยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ หรือบางรายที่อาการเกิดขึ้นในภายหลัง อาการดังกล่าวจะมีผลต่อทั้งการเรียนการทำงานในชีวิตประจำวันให้แย่ลง ควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ขณะที่กรมสุขภาพจิตแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ดูแลเด็กและวัยรุ่น ที่มีความเสี่ยงภาวะเครียดหลังเหตุความรุนแรง ข้อควรรู้ ว่า เด็กไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความเครียดไม่สามารถเข้าใจได้เท่าผู้ใหญ่และสามารถซึมซับ พฤติกรรมเลียนแบบ เร็วกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า
ข้อสังเหตุว่า “เด็ก” อาจอยู่ในภาวะ PTSD
- อายุเด็ก ความรุนแรงที่ได้รับและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความหมายต่อผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน
- ความยาวนานของระยะเวลาที่ประสบเหตุการณ์
- บุคลิกและวิธีการเผชิญต่อสภาวะความเครียดผู้ป่วยเอง
- ประสบการณ์เก่าที่เคยมีมาก่อนเด็กต้องเผชิญกับความยากลำบากทางด้านจิตใจสังคมอย่างต่อเนื่อง
- สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ขาดการสนับสนุนจากสังคมรอบ
- งอแงง่าย เรียกร้องความสนใจมากกว่าปกติ แยกตัวไม่อยากไปโรงเรียน
- นอนไม่หลับ หลับไม่ดี ฝันร้าย
- หวาดผวา กลัวการแยกจากผู้ปกครอง
- สุขภาพจิตของพ่อแม่ของเด็กที่แสดงออกถึงความวิตกกังวล ซึมเศร้าหลังเกิดเหตุการณ์มีส่วนสำคัญต่อการเกิดPTSDในเด็กได้ รวมถึงการที่พ่อแม่ไม่สนับสนุน ไม่ให้กำลังใจ ไม่เป็นมิตรกับเด็ก การเลี้ยงดูแบบบังคับด้วย
สิ่งที่ควรทำ
- คำนึกถึงความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กเป็นอันดับหนึ่ง
- รีบให้เด็กกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ
- ผู้ใหญ่จัดการอารมณ์ตนเองเป็นต้นแบบ
- มีผู้ใหญ่/ผู้ปกครอง ดูแลใกล้ชิด เป็นพี่พึ่งทางจิตใจ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีสูญเสีย
- พาทำกิจดรรมผ่อนคลาย เช่น ปั้นดิน เล่นทราย ศิลปะ ร้องเพลง
ไม่ควรทำ
- ไม่ถามเด็กให้เล่าถึงเหตุการณ์
- งดเอาเด็กมาออกข่าว เสพข่าว
- ไม่เอาเด็กม่เป็นเครื่องมือสร้างภาพกระแสดราม่า
หลังเหตุการณ์ความรุนแรง ความกลัว เกิดได้ตามระดับเผชิญเหตุการณ์ กระบวนการธรรมชาติจะดีขึ้นภายใน 3-6 เดือน หากยังมีปัญหาหรือความผิดปกติควรปรึกษาจิตแพทย์ทันที
ซึ่งการรักษาโรค PTSD เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและรีบปฎิบัติทันที โดยเฉพาะอาการที่เกิดขึ้นในช่วงแรก เพราะถ้าเพิกเฉย ทอดทิ้ง ไม่รักษา หรือให้การช่วยเหลือช้าก็จะทำให้เด็กกลายเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังไปนานซึ่งการรักษาต้องคอยติดตามอาการทางจิตใจ เพื่อฟื้นฟูชุมชนให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว คัดกรองอาการ สังเกตพฤติกรรมและอาการของเด็ก และหากต้องการปรึกษาแพทย์ สามารถโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้
การรักษาทางด้านจิตใจ ประกอบด้วยการทำจิตบำบัด อันมีหลากหลายวิธี
- Trauma-Focused Cognitive Therapy สำรวจและพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแนะนำวิธีการให้รู้สึกผ่อนคลายกับการเผชิญสิ่งที่ทำให้ตื่นกลัว ปรับเปลี่ยนความเชื่อและความคิดบิดเบือนเกี่ยวกับอาการหรือเหตุการณ์ครั้งนั้น ฝึกให้ควบคุมความรู้สึกนึกคิดและรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ โดยมีผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจโดยการให้ความรู้ผู้ปกครองกับเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เด็กพบเจอและปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ รวมทั้งให้ทักษะผู้ปกครองในการช่วยปรับพฤติกรรมแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กอย่างถูกต้อง
- Cognitive-Behavior Therapy (CBT) การทำจิตบำบัดรายบุคคล
- พ่อแม่มีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา
- เปลี่ยนแปลงและแก้ไขสิ่งแวดล้อม คือ การให้ความรู้กับครู พ่อแม่ ผู้ป่วยเด็ก รวมถึงผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโรค PTSD ในทาง จิตเวชเด็ก การจัดกิจกรรมในโรงเรียนให้เด็กเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด การจัดที่อยู่อาศัยให้มั่นคงปลอดภัย มีระบบการป้องกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำ รวมถึงการฟื้นฟูชุมชน
การรักษาด้วยยา
ปัจจุบันการใช้ยากลุ่ม SSRIs (Selective serotonin reuptake inhibitor) เช่น Sertraline, Paroxetine มีประสิทธิภาพในรักษาในผู้ใหญ่ ยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางงานวิจัยในเด็ก ดังนั้นการใช้ยาในเด็กและวัยรุ่นควรจะพิจารณาเป็นรายๆไป
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิตเวช,โรงพยาบาลพญาไท,กรมสุขภาพจิต