“โรคใคร่เด็ก”ความผิดปกติโรคกามวิปริต คุมคามแบบไหนเข้าข่าย ป้องกันบุตรหลานได้!
ชวนรู้จักโรคใคร่เด็ก หรือ เปโด (Pedophilia)อันตรายภัยสังคมที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรป้องกันความปลอดภัยบุตรหลาน ปัจจุบันไทยยังไม่มีการกำหนดโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิตโรคใคร่เด็กและอาจไม่เข้าข่ายเป็นจิตเวช ผู้ทำความผิดจึงมีความผิดและรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) ถือเป็นความผิดปกติทางจิตหรือโรคกามวิปริตที่เกี่ยวข้องกับความสนใจทางเพศที่ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป และก่อให้เกิดความทุกข์หรืออันตรายแก่ตนเองและผู้อื่น มักเกิดกับผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นตอนปลาย และในกรณีร้ายแรง ผู้ป่วยอาจก่อเหตุทางอาชญากรรมหรือการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กได้ ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กมักเกิดแรงดึงดูดและจินตนาการทางเพศ หรือเกิดความรู้สึกทางเพศกับผู้เยาว์ที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์

ชอบการมีกิจกรรมทางเพศกับผู้เยาว์ที่ยังไม่ถึงวัยสมควร และสนใจดูสื่ออนาจารของเด็กที่เร่งเร้ากามารมณ์ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกกดดันรันทด โดดเดี่ยวอ้างว้างและละอายในความรู้สึกของตนเอง โดยจะต้องมีอาการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 6 เดือนจึงจะจัดว่าเป็นผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก
เด็กเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ เสี่ยงทั้งหญิงและชาย ซึ่งเป็น เด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ไปถึง 13 ปี อาทิ เด็กอนุบาล เด็กประถม รวมไปถึงเด็กทารกด้วย
ลักษณะผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก
- ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 35 – 40 ขึ้นไป
- ไม่ค่อยมีความสุขกับคู่ครองวัยเดียวกัน
- ส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัว/คนใกล้ชิด เช่น เพื่อนบ้าน/ญาติ
- พยายามเข้าใกล้เด็กด้วยวิธีการตีสนิท หลอกล่อ ให้รางวัล ให้ขนม ให้เงิน เพื่อให้เด็กเชื่อใจ/ตีสนิท
- เกิดความรู้สึก/มีจินตนาการทางเพศกับเด็กเท่านั้น
- ชอบมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กและทำซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งเด็กคนเดิมหรือเด็กคนใหม่
รูปแบบการกระทำทางเพศกับเด็ก
- ไม่มีการสัมผัสร่างกาย
- สัมผัสร่างกายแต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ
- ล่วงละเมิดทางเพศ
ศาสตราจารย์วุฒิคุณ ดร. เรย์ บลองเชิร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศศาสตร์และจิตเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโตอธิบายว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยด้วยโรคใคร่เด็กเป็นบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศต่อเด็กอายุ 13 ปีหรือน้อยกว่า หรือผู้ป่วยมักมีอายุมากกว่าเหยื่ออย่างน้อย 5 ปี แต่ไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทุกรายจะกระทำการล่วงละเมิดเด็กเสมอไป มีปัจจัยที่อาจมีบทบาทต่อการพัฒนาโรคใคร่เด็กของผู้ป่วยหลายปัจจัย
นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกอย่างการอบรมเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็ก นั่นก็คือปัจจัยที่เกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วย ได้แก่ พันธุกรรมและพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม ความแตกต่างของโครงสร้างสมอง และฮอร์โมน
โรคใคร่เด็กสามารถรักษาได้ตามคำแนะนำของจิตแพทย์ โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง รู้จักยับยั้งชั่งใจไม่กระทำผิดต่อผู้เยาว์ได้ และอาจเพิ่มการรักษาด้วยยาที่ช่วยลดความรู้สึกทางเพศหรือยาต้านโรคซึมเศร้า
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต “โรคใคร่เด็ก” และอาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ทำความผิดจึงมีความผิดและรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
แจ้งเหตุได้ที่
- มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ)
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์