รับมืออาการแพนิก ดูแลจิตใจหลังเหตุแผ่นดินไหว แพทย์เผยไม่ใช่แค่ขี้ตกใจ
แพนิก โรคที่ไม่ใช่แค่ขี้ตกใจ แต่เหมือนไฟฟ้าในร่างกายลัดวงจร ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หลังถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์บางอย่าง เช่นแผ่นดินไหว เผยอาการและวิธีรับมืออย่างถูกต้อง
โรคแพนิก (Panic Disorder) ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจในยุคปัจจุบัน ยิ่งหลังแผ่นดินไหว ยิ่งทำให้หลายคนกังวลใจและเกิดขึ้นได้และเป็นคำพูดติดปากไปแล้ว แท้จริงแล้วมันคือโรคที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ และโรคแพนิกนี้ก็ไม่ใช่แค่นิสัยขี้ตระหนกตกใจ
แพนิกเหมือนไฟฟ้าในร่างกายลัดวงจร
โรคที่เกิดจากฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายๆ ส่วน

จึงเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่ทัน ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และเป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ นั่นทำให้บางคนที่มีอาการมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และผู้ป่วยโรคแพนิกมักจะรู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิกก็ต่อเมื่อมีอาการดังกล่าวไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ก แล้วพบว่าหัวใจแข็งแรงเป็นปกติ แพทย์จะสงสัยและอาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิก
อาการโรคแพนิก
- ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
- เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ
- หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
- วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
- ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นและสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพนิก สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าโรคแพนิกจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน
สิ่งกระตุ้นโรคแพนิก
- อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” (Amygdala) ทำงานผิดปกติ
- กรรมพันธุ์ กรณีที่มีญาติหรือประวัติครอบครัวเป็นโรคแพนิก มีแนวโน้มเป็นได้มากกว่า
- การใช้สารเสพติด
- ความผิดปกติของฮอร์โมน ที่อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้
- เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต
- พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์และมือถือนาน ๆ ต้องเผชิญกับความกดดัน อยู่ในสถานการณ์ที่เร่งรีบ เครียดวิตกกังวล ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย
- เครียดสะสม เกิดจากการใช้ชีวิตที่เคร่งเครียด อยู่ในสภวะที่กดดันเป็นประจำ
แพนิกไม่อันตรายแต่ต้องรักษา
แพนิกรักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัดซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้มให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
ทำตัวเมื่อเกิดแพนิก
- หายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ และบอกตัวเองว่าอาการไม่อันตราย แค่ทรมานแต่เดี๋ยวก็หาย
- มียาที่แพทย์ให้พกติดตัวไว้ กินเมื่ออาการเป็นมาก
- ฝึกการผ่อนคลายอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ทำงานอดิเรกต่าง ๆ ที่ช่วยให้มีความสุข
นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัด ปรับแนวคิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ ให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตก ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน,โรงพยาบาลเปาโล เกษตร และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล