แพนิก โรควิตกกังวลที่ควบคุมไม่ได้ สาเหตุและสิ่งกระตุ้น วิธีบรรเทาอาการ
โรคแพนิก (Panic Disorder) โรควิตกกังวลอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานผิดปกติ เผยอาการและสาเหตุกระตุ้น การบรรเทาและรักษา
โรคแพนิก (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานผิดปกติ ซึ่งระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น
- หัวใจเต้นเร็ว
- เหงื่อออกมาก
- ท้องไส้ปั่นป่วน
- วิงเวียน
อาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันถึงแม้ว่าจะไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก ไม่กล้าออกไปไหน หมกมุ่นเรื่องสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการของโรคแพนิก
- หัวใจเต้นแรง ตัวสั่น
- ใจสั่น แน่นหน้าอก
- หายใจหอบ หายใจถี่
- เหงื่อออกมาก เหงื่อแตก
- ท้องไส้ปั่นป่วน
- วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกหวาดกลัวไปหมดทุกอย่าง
- มือสั่น เท้าสั่น
- ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้
ตัวกระตุ้นโรคแพนิก
- อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” (Amygdala) ทำงานผิดปกติ
- กรรมพันธุ์ กรณีที่มีญาติหรือประวัติครอบครัวเป็นโรคแพนิก มีแนวโน้มเป็นได้มากกว่า
- การใช้สารเสพติด
- ความผิดปกติของฮอร์โมน ที่อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้
- เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต
- พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์และมือถือนาน ๆ ต้องเผชิญกับความกดดัน อยู่ในสถานการณ์ที่เร่งรีบ เครียดวิตกกังวล ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย
- เครียดสะสม เกิดจากการใช้ชีวิตที่เคร่งเครียด อยู่ในสภวะที่กดดันเป็นประจำ
รักษาอาการแพนิก
โรคแพนิกสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ หรือการตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีจึงจำเป็นจะต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย ปรับพฤติกรรมและแนวคิดของผู้ป่วย รวมไปถึงคนรอบข้าง คนใกล้ชิด ก็ควรที่จะทำความเข้าใจกับโรคนี้และให้กำลังใจผู้ป่วย
การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเครียด ความกังวลใจ ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง และผู้ป่วยควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียด รับประทานอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ และอาจหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ รวมไปถึงการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่รุนแรง หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่อาการของโรคอาจจะไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน หากสงสัยว่ามีอาการของโรคแพนิกแนะนำให้ควรไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษา
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร