อย่าเลียนแบบ! กินไข่พยาธิตัวตืด ไม่ช่วยลดหุ่น ผลเสียเพียบเสี่ยงตายได้
กรมอนามัย เตือนพฤติกรรมเลียนแบบกรณีสาวชาวจีนรายหนึ่ง สั่งไข่พยาธิตืดวัวมากินหวังลดหุ่น ย้ำกินพยาธิตัวตืดเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเพจหมอแล็บแพนด้าโพสต์เกี่ยวกับผู้ป่วยสาวชาวจีนรายหนึ่ง อยากผอม จึงสั่งไข่พยาธิตืดวัวมากินนั้น ถือเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรเลียนแบบหรือทำตาม เนื่องจากพยาธิตัวตืด ที่เรียกว่า ซิสติเซอร์โคซิส (cysticercosis) เป็นพยาธิที่พบได้ในเนื้อหมู เนื้อวัว ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ข้างใน สำหรับคนทั่วไปมักเรียกเม็ดสาคู
"ก้อย ซอยจุ๊ ปลาดิบ" อาหารเล่าวัฒนธรรม แซ่บแต่เสี่ยงพยาธิก่อโรคตับ
เตือน! กินตับสด ไม่สุก เสี่ยงติด “เชื้อ-พยาธิ-ไข้หูดับ”
โดยกรณีสาวชาวจีนตามข่าวที่นำเสนอนั้น เลือกใช้วิธีกินไข่พยาธิเพื่อลดน้ำหนัก เพราะเชื่อว่าพยาธิจะไปฟักตัว ในกระเพาะอาหาร แล้วแย่งอาหารในลำไส้ ช่วยให้ร่างกายซูบซีด น้ำหนักลดลง จนมีรูปร่างผอมเพรียวได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องอดอาหารหรือออกกำลังกาย ซึ่งการกินไข่พยาธิเพื่อลดน้ำหนัก ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมารองรับว่าวิธีนี้จะช่วยลดหุ่นได้จริง
- หากร่างกายมีการติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้ จะมีอาการคลื่นไส้ เหนื่อยล้า อ่อนแอ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย ผอมลง
- ส่วนอันตรายที่เกิดจากพยาธิตัวตืดระยะตัวเต็มวัย ได้แก่ การขาดสารอาหารเนื่องจากพยาธิแย่งอาหาร เกิดลำไส้อุดตัน
- เมื่อพยาธิไชทะลุลำไส้ทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- ถ้ามีตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดหมูอยู่ในกล้ามเนื้อ จะทำให้ปวดเมื่อย
- หากพยาธิตัวอ่อนที่เข้าไปในตาหรือสมอง อาจทำให้ตาบอดหรือเกิดอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ ชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้
ห่วงพฤติกรรมเลียนแบบ "กินเนื้อตุ๊กแก" แนะกินเนื้อหมู ไก่ ได้ประโยชน์ดีกว่า
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจึงควรเลือกวิธีการที่เหมาะสม ด้วยการปรับ 4 พฤติกรรม คือ การกิน กิจกรรมทางกาย การนอน และการดูแลสุขภาพข่องปาก โดยประเมินตนเองก่อนว่าขณะนี้มีภาวะโภชนาการหรือรูปร่างเป็นอย่างไร ด้วยการวัดเส้นรอบเอว และหาค่าดัชนีมวลกาย
วิธีการกินอาหารแต่ละมื้อ
มื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญ ควรได้อาหารที่มีคุณภาพ และหลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ ตามหลักธงโภชนาการ เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานไปใช้
ส่วนมื้อเที่ยง ไม่ควรรวบมื้อเช้ากับเที่ยงเข้าด้วยกันจนทำให้กินปริมาณมาก อาหารแต่ละมื้อควรมีสัดส่วน คุณภาพ และหลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะเช่นกัน
สำหรับมื้อเย็น เป็นมื้อที่เราใช้พลังงานน้อย จึงควรหลีกเลี่ยงกินหนัก
ให้จัดเป็นจานอาหารเพื่อสุขภาพ 2:1:1 คือ ผัก 2 ส่วน (2 ทัพพี) เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ส่วน (2-3 ช้อนกินข้าว) และข้าว แป้ง 1 ส่วน (2-3 ทัพพี) ให้เลือกอาหารที่ใช้วิธีการนึ่ง ต้ม อบ ย่าง แทนการผัดหรือทอด พร้อมผลไม้รสไม่หวานจัด 1 จานเล็ก ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้มีรูปร่างดี สุขภาพดี และไม่เสี่ยงอันตรายด้วย