จับเครือข่ายร้านยาเถื่อน ลอบขายยาแก้ไอให้เด็กนำไปผสมสารเสพติด “4X100”
ตำรวจ ร่วม อย.จับเครือข่ายร้านยาเถื่อน ไม่ใช่เภสัชกร ลอบขายยาแก้ไอให้เด็กปริมาณมากเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้นำไปผสมสารเสพติดชนิด “4X100”
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนร้านขายยาที่มีพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร ขายยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาแคปซูลเขียวเหลืองให้กลุ่มเยาวชนเพื่อเป็นส่วนผสมยาเสพติดชนิด 4x100
อีกทั้งสภาเภสัชกรรมได้ประชุมหารือกับ กก.4 บก.ปคบ. และแถลงจุดยืนเน้นย้ำให้ร้านขายยาทุกร้านจะต้องมีเภสัชกรประจำโดยจะดำเนินการกับเภสัชกรแขวนป้าย
“กาชาด” ชวนหนีผีมาบริจาคเลือด รับเทศกาลฮาโลวีน 29-31 ต.ค.นี้
“1 พ.ย.” เปิดตัวเว็บไซต์ “CaregiverThai.com” ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจสอบเครือข่ายร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมายรายใหญ่ 3 เครือข่าย รายละเอียดดังนี้
1.) เครือข่ายร้านขายยานายธนกฤต (สงวนนามสกุล) วันที่ 15 กันยายน 2565 ตรวจค้นร้านขายยาและสถานที่จัดเก็บยาซึ่งดัดแปลงจากร้านขายยาเก่าที่ถูกระงับใบอนุญาต ในพื้นที่ แขวงสายไหม จำนวน 2 จุด พบของกลางเป็นยายี่ห้อแพคมาดอล PACMADOL® ซึ่งมีสถานะยกเลิกทะเบียนตำรับยา(ยาปลอม) จำนวน 4,000 เม็ด, ยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) จำนวน 166,550 แคปซูล, ยาแก้แพ้แก้ไอชนิดน้ำเชื่อม จำนวน 20,047 ขวด รวมของกลางซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 7 รายการ มูลค่าของกลางกว่า 2,000,000 บาท จับกุมผู้ต้องหา 3 ราย
โดยพนักงานขายยาในร้านถูกดำเนินคดีในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” และดำเนินคดีกับ นางโชติกา (สงวนนามสกุล) และ นายธนกฤต (สงวนนามสกุล) ในข้อหา “ร่วมกันขายยาปลอม และร่วมกันย้ายสถานที่เก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต”
จากการสืบสวนขยายผลพบว่ามีร้านขายยาในเครือข่ายเดียวกันที่มีนายธนกฤตฯ เป็นเจ้าของ จำนวน 14 ร้าน ต่อมาระหว่างวันที่ 12 - 15 ตุลาคม 2565 จึงร่วมกับ อย. ตรวจค้นร้านขายยาเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี จำนวน 8 จุด จับกุมผู้ขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร 8 ราย ดำเนินคดีในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ตรวจยึดของกลางเป็นยาแก้แพ้แก้ไอ 12 ขวด, และยาที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 9 รายการ
2.) เครือข่ายร้านขายยานายธนเทพ (สงวนนามสกุล) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ตรวจค้นร้านขายยาในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 4 จุด จับกุมผู้ขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร 4 ราย ในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ซึ่งร้านขายยาทั้ง 4 ร้าน มีกลุ่มเครือข่ายร้านขายยาของนายธนเทพฯ เป็นเจ้าของ ตรวจยึดของกลางเป็นยาแก้แพ้แก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 5,500 ขวด, ยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) 26,500 แคปซูล ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 7 รายการ มูลค่าของกลางกว่า 400,000 บาท
3.) เครือข่ายร้านขายยา นายคมพิศิษฐ์ (สงวนนามสกุล) วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ได้ร่วมกับ อย. ตรวจค้นร้านขายยาในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 5 จุด จับกุมผู้ต้องหา 5 ราย ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ตรวจยึดของที่กลางเป็นยาแก้แพ้แก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 18,590 ขวด, ยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) 2,020 แคปซูล และยาซิเดกร้า 60 เม็ด ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 13 รายการ
รวมตรวจค้น 19 จุด จับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 20 ราย ดำเนินคดีข้อหา “ร่วมกันขายยาปลอม และร่วมกันย้ายสถานที่เก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” จำนวน 2 ราย ดำเนินคดีในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” จำนวน 18 ราย โดยกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมข้อหาขายยาโดยไม่ใช่เภสัชกร และไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรมแต่อย่างใด ซึ่งจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 ราย, ปวส. จำนวน 3 ราย, ปริญญาตรี จำนวน 5 ราย ตรวจยึดของกลางเป็นยาแก้แพ้แก้ไอ 44,149 ขวด, ยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) 195,070 แคปซูล, ยายี่ห้อแพคมาดอล PACMADOL® ซึ่งมีสถานะยกเลิกทะเบียนตำรับยา (ยาปลอม) จำนวน 4,000 เม็ด และยาซิเดกร้า 60 เม็ด ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 จำนวน 35 รายการ
กลุ่มเครือข่ายทั้ง 3 ราย มีรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะขออนุญาตเปิดร้านขายยาหลายแห่งเพื่อจะได้รับโควต้าในการซื้อยาแก้แพ้ ยาแก้ไอในปริมาณมาก และมุ่งเน้นขายเฉพาะกลุ่มเยาวชน และขายมากกว่า 3 ขวดต่อครั้ง (เกินที่กฎหมายกำหนด) เพื่อนำไปใช้ในการผสมสารเสพติดชนิด 4x100 จึงร่วมกับจับกุมผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
กรณีผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินกิจการร้านขายยา (เจ้าของร้านขายยา) ที่ขออนุญาตเปิดร้านขายยา โดยมีพฤติการณ์ขายยาแก้แพ้แก้ไอและยาเขียวเหลืองให้กับเยาวชน เบื้องต้นมีความผิดฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดฯ, และขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะได้เสนอคณะกรรมการยาพักใช้ใบอนุญาตต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1.) พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510
1.1) มาตรา 26(6) ฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับ 2,000 - 10,000 บาท
1.2) มาตรา 32 ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ระวางโทษปรับ 1,000 - 5,000 บาท
1.3) มาตรา 30 ฐาน “ย้ายสถานที่เก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษปรับ 1,000 - 3,000 บาท
1.4) มาตรา 72(1) ฐาน “ขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 10,000 บาท
2.) พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า การปลดล็อก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดประเภท 5 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนบางกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชนใช้โอกาสนำเอาน้ำกระท่อมไปใช้เป็นส่วนผสมกับยาแก้แพ้แก้ไอ หรือยาแก้ปวดในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4x100” แล้วนำมาดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา เสียสุขภาพและอาจก่อเกิดเหตุอาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน
ทั้งนี้ อย.มีประกาศ เรื่อง การควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนประกอบของไดเฟนไฮดรามีน หรือโปรเมทาซีน หรือเดกซ์โตรเมธอร์แฟน โดยจำกัดปริมาณการขายยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของยาทั้ง 3 ดังกล่าว จากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดปริมาณการขายยาให้แก่ประชาชนครั้งละไม่เกิน 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากนี้ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการมีหน้าที่จัดทำบัญชีซื้อและขายยาให้เป็นจริง
หากพบร้านขายยาใดฝ่าฝืนการกระทำความผิดซ้ำ จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และพักใช้ใบอนุญาตขายยาจนกว่าคดีถึงที่สุด รวมทั้งแจ้งสภาเภสัชกรรมดำเนินการกับเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต่อไป จึงขอเตือนผู้รับอนุญาตและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศของ อย.อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ประกาศใช้! “กฎหมายฉีดไข่ฝ่อ” ป้องกันกระทำผิดซ้ำคดีล่วงละเมิดฯ4 มีนาคม วันอ้วนโลก ค่า BMI เท่าไหร่? ถึงเรียกว่าน้ำหนักเกิน