สธ.ยันไม่มี “เดลต้าสายพันธุ์ใหม่” ตรวจไม่พบเชื้อ-อัตราเสียชีวิตสูง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไม่มี “เดลต้าสายพันธุ์ใหม่” ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ และมีอัตราเสียชีวิตสูง ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ว่อนไลน์
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความผ่านทางไลน์ (Line) รายงานว่ามาจากโรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ เตือนภัยถึงการเจอเดลต้าสายพันธุ์ใหม่ ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ
โดยระบุว่า อ่านด่วน งานเข้าแล้ว ประเทศไทย ทุกคนอ่าน คำเตือนฉุกเฉินสวมแมสก์ 2 ชั้น เพราะว่าเดลต้าสายพันธุ์ใหม่ มีความแตกต่างของการเสียชีวิต โดยตรวจไม่พบเชื้อ มาด้วยอาการดังนี้ ไม่ไอ ไม่มีไข้ แต่ส่วนใหญ่ปวดข้อ ปวดหัว ปวดคอ ปวดหลังบริเวณเหนือเอวขึ้นมา ปอดบวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง เบื่ออาหาร มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และมีอัตราเสียชีวิตสูงมาก
เช็กอาการไอ! ไอแบบไหนเป็น "โควิด-19" หรือ "มะเร็งปอด"
โควิดระบาดเพิ่มขึ้น 12.8% กำชับทุกจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนเชิงรุกเตรียมความพร้อมเวชภัณฑ์ยา
การดำเนินโรคจนเข้าสู่อาการรุนแรงใช้ระยะเวลาสั้นๆ บางครั้งไม่มีอาการนำใดๆ สิ่งที่ต้องระวัง เชื้อจะไม่พักตัวที่บริเวณโพรงจมูก มันจะเข้าสู่ปอดโดยตรง ระยะฟักตัวสั้นลง ผู้เขียนพบบางครั้งผู้ป่วยไม่มีอาการไข้ หรือปวดเลย แต่ภาพถ่ายรังสีมีปอดบวม ผลสวอปจมูก ให้ผลลบบ่อยครั้ง แม้ในโพรงจมูกก็ให้ผลลบปลอมเป็นส่วนใหญ่
หมายความว่า เชื้อแพร่กระจายโดยตรงไปที่ปอด เกิดอาการปอดบวมแบบฉับพลัน เป็นคำตอบว่า ทำไมจึงเกิดอาการและเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
โปรดระมัดระวังให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด โดยเฉพาะห้องแอร์ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี สวมแมสก์ 2 ชั้น ถูกวิธี ล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งต่างๆ หรือไอจาม ระลอกนี้อัตราตายสูงกว่าระลอกแรก ดังนั้นเราควรใช้ความระมัดระวังในระดับสูง (ยกการ์ดสูงขึ้นกว่าเดิม) ใช้ทุกมาตรการที่มีในการป้องกันตัวเอง
ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ พร้อมขอให้อย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อ
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ รายสัปดาห์ (6-12 พฤศจิกายน 2565) ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายใหม่วันละ 452 คน เสียชีวิตเฉลี่ย 6 คน และป่วยปอดอักเสบ 329 คน
ส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ ข้อมูลล่าสุดจากกรมวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า พบสายพันธุ์ย่อยเพิ่มขึ้น คือ XBB, BA.4.6 และ BQ.1 แต่สายพันธุ์ที่พบหลักยังเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ส่วนข่าวที่ระบุว่ามีเดลต้าสายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้ยังไม่พบแต่อย่างใด