“เลเคนแมบ” ความหวังผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์! ชะลอสมองเสื่อมถอยได้
นักวิจัยเผยข่าวดี ยาแอนติบอดี “เลเคนแมบ” สามารถชะลอภาวะการทํางานของสมองเสื่อมถอยได้ 27%
“โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease)” เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่ทุกส่วนของเซลล์สมองจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ โดยระยะสุดท้ายจะสูญเสียความจำทั้งหมด ที่น่ากลัวคือ หากเป็นแล้วไม่มีวันหาย เพราะปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในโรคที่ยังไม่มีหนทางรักษา ทั่วโลกมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มากกว่า 30 ล้านคน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามค้นหาวิธีในการรักษาโรคอัลไซเมอร์มาโดยตลอด
เทพเจ้าสายฟ้า “คริส เฮมส์เวิร์ธ” ตรวจพบยีนเสี่ยงเป็น “อัลไซเมอร์”
"อัลไซเมอร์" ลืมแบบไหนที่บ่งชี้โรค แนะวิธีดูแลสมองชะลอโรคอย่างถูกต้อง
“ภาวะสมองล้า” จุดเริ่มต้นของสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ก่อนวัย
และล่าสุดเหมือนจะมีข่าวดี เมื่อผลการทดลองเบื้องต้นของนักวิจัยพบว่า มี “ยา” ตัวหนึ่งที่ “ชะลอภาวะการทํางานของสมองเสื่อมถอย (Cognitive Decline) ” ได้
ยาที่เปรียบเสมือนแสงแห่งความหวังสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีชื่อว่า “เลเคนแมบ (Lacanemab)”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในสมองของผู้ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จะมีกลุ่มก้อนโปรตีนที่เรียกว่า “เบตาอะไมลอยด์ (beta amyloid)” เกาะอยู่ตามหน่วยประสาทในเซลล์สมอง หรือ “นิวรอน”
ซึ่งเจ้ายาเลเคนแมบตัวนี้เป็นแอนติบอดีชนิดหนึ่งที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ มันจะเข้าไปเกาะกับกลุ่มก้อนโปรตีนดังกล่าว จากนั้นกระตุ้นให้ “เซลล์ภูมิคุ้มกัน” ของร่างกายเราตรงเข้ามาสลายโปรตีนที่เกาะอยู่ตามนิวรอน ทำให้มีเบตาอะไมลอยด์ในสมองน้อยลง และช่วยชะลอภาวะการทํางานของสมองเสื่อมถอยได้
นี่นับเป็นยาตัวแรกที่เหมือนจะส่งผลในด้านบวกต่อการรักษาโรคอัลไซเมอร์ เพราะยาอื่น ๆ ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถเปลี่ยนวิถีของโรคได้เลย
ผู้พัฒนายาเลเคนแมบคือ บริษัทไบโอเจน (Biogen) ของสหรัฐฯ และบริษัทเอไซ (Eisai) จากญี่ปุ่น โดยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา พวกเขาเพิ่งเปิดเผยผลการทดสอบทางคลินิกของยาเลเคนแมบออกมา
ในการทดลอง ประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่าง 1,795 คนที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ระยะแรก โดยฉีดยาแอนติบอดีเลเคนแมบให้กับกลุ่มตัวอย่างทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 18 เดือน
ผลปรากฏว่า เบตาอะไมลอยด์ในสมองของผู้ป่วยลดน้อยลงบางส่วน ชะลอความเสื่อมถอยของสมองได้ราว 27%
ขณะนี้หน่วยงานกำกับดูแลยาในสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่า จะสามารถนำยาเลเคนแมบมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยจริงได้หรือไม่ และไบโอเจนกับเอไซกำลังวางแผนที่ขออนุมัติใช้ในประเทศอื่น ๆ ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความยินดีของความสำเร็จ เลเคนแมบก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี เพราะมันมีราคาที่แพงมาก อยู่ที่ 10,000-30,000 ปอนด์ (ราว 4.2 แสน – 1.2 ล้านบาท) ต่อปี เพื่อแลกกับการชะลออาการสมองเสื่อมได้เล็กน้อย
นอกจากนี้ มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของยาเลเคนแมบ หลังจากมีผู้เสียชีวิต 2 รายในการทดลอง ซึ่งนักวิจัยบางคนเชื่อว่า มีความเกี่ยวข้องกับเลเคนแมบ
ตามรายงานการทดลอง มีผู้เสียชีวิต 13 คนในการทดลอง 6 คนเป็นกลุ่มที่ได้รับยา และ 7 คนได้รับยาหลอก แต่รายงานระบุว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตคนใดมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับยา
บาร์ต เดอ สทรูเปอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโรคสมองเสื่อม มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า “นี่คือยาตัวแรกที่มอบทางเลือกในการรักษาที่แท้จริงสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ... แม้ว่าประโยชน์ของมันจะยังค่อนข้างจำกัด แต่ก็คาดว่ามันจะพัฒนาให้ดีมากขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป”
ขณะที่ ทารา สไปร์ส-โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านความเสื่อมของระบบประสาทและรองผู้อำนวยการศูนย์ Discovery Brain Sciences แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า แม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็น “ข่าวดี” แต่สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่า ณ ตอนนี้ เลเคนแมบยังไม่ใช่ยารักษาโรคอัลไซเมอร์
“ทั้งสองกลุ่มในการทดลองมีอาการแย่ลง แต่คนที่รับประทานยาไม่ได้สูญเสียทักษะการทํางานของสมองมากนัก ... และยังไม่ชัดเจนว่า การชะลออาการสมองเสื่อมเพียงเล็กน้อยจะสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่” เธอกล่าว
เรียบเรียงจาก BBC / The Guardian
ภาพจาก Shutterstock