วิจัยสหราชอาณาจักรพบ มลพิษทางอากาศ มีโอกาสนำไปสู่ “ภาวะซึมเศร้า”
งานวิจัยใหม่พบว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน แม้ในระดับต่ำ อาจทำให้เกิด “ภาวะซึมเศร้า” และ “ภาวะวิตกกังวล” ได้
หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ กำลังเผชิญกับวิกฤตค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลร้ายโดยตรงต่อร่างกาย โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากความเสียหายต่อร่างกายแล้ว อนุภาคฝุ่นในอากาศเหล่านี้ ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตด้วย
งานวิจัยศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพอากาศและสุขภาพจิตจากสหราชอาณาจักรพบว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน แม้ในระดับต่ำ ก็อาจทำให้เกิด “ภาวะซึมเศร้า” และ “ภาวะวิตกกังวล” ได้
กรมควบคุมมลพิษ ยอมรับค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่กับคนกรุงยาวไป ถึงวันที่ 7 ก.พ.
"ชัชชาติ" ย้ำ ยังไม่สั่งปิดโรงเรียน ยังรับมือป้องกันค่าฝุ่น PM 2.5 ได้
กทม.เช้านี้ ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น เกินมาตรฐาน 70 พื้นที่
งานวิจัยดังกล่าวได้ทำการศึกษาการเกิดภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลในประชากรวัยผู้ใหญ่เกือบ 400,000 คนในสหราชอาณาจักรในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา โดยดึงข้อมูลจาก UK Biobank แล้วสร้างแบบจำลองสภาวะที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น PM2.5 และ PM10 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไนตริกออกไซด์ ในพื้นที่ที่ประชากรเหล่านั้นเขาอาศัยอยู่
ผลออกมาว่า ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศ ทั้งที่เกินมาตรฐานและที่ยังอยู่ในเกณฑ์ เกิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารวม 13,131 ราย และเกิดผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล 15,835 ราย
นักวิจัยพบว่า “ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงมีแนวโน้มที่จะแสดงอาการสุขภาพจิตที่ไม่ดีในรูปแบบต่าง ๆ แม้ว่าคุณภาพอากาศจะอยู่ในเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ก็ตาม”
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานวิจัยนี้ ระบุว่า การค้นพบของพวกเขาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดมาตรฐานหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศ
ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่นในอากาศที่ปลอดภัยเอาไว้ โดยสำหรับ PM 2.5 นั้น เฉลี่ยรายปีต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
โดยหากค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM 2.5 เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะถือว่าเป็นระดับที่มีความอันตรายต่อร่างกายแล้ว
นักวิจัยสรุปว่า เมื่อมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น กรณีของภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และการสัมผัสกับมลพิษในระดับต่ำเป็นเวลานานนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเช่นเดียวกับการสัมผัสมลพิษระดับสูง
นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาหวังว่าผู้กำหนดนโยบายจะนำสิ่งที่ค้นพบมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ
“เมื่อพิจารณาว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของหลายประเทศยังคงสูงกว่าหลักเกณฑ์คุณภาพอากาศทั่วโลกปี 2021 ขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด จึงควรนำมาตรฐานหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศมาใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคต” นักวิจัยระบุ
ด้าน แอนนา แฮนเซลล์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัย กล่าวว่า “การศึกษานี้ให้หลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศต่อสมอง”
เธอเสริมว่า “คณะกรรมการผลกระทบทางการแพทย์จากมลพิษทางอากาศรายงานในปี 2022 เกี่ยวกับหลักฐานของความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับประสิทธิภาพการทำงานของสมองที่ลดลงและภาวะสมองเสื่อม รายงานสรุปได้ว่า มลพิษทางอากาศน่าจะเป็นสาเหตุ”
แฮนเซลล์บอกว่า “อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีการศึกษาน้อยมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศและสุขภาพจิต การศึกษาใหม่ที่ดำเนินการอย่างดีนี้พบความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีมลพิษทางอากาศต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก”
นั่นหมายความว่า ในประเทศที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูง เช่น ประเทศไทย ผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน อาจรุนแรงและเลวร้ายยิ่งกว่าตัวอย่างกรณีศึกษาจากสหราชอาณาจักร
เรียบเรียงจาก The Guardian