BDMS ทุ่ม 1.5 พันล้าน ภายใน 2 ปีนี้ ลงทุนด้านนวัตกรรมการแพทย์
BDMS ทุ่ม 1.5 พันล้าน ภายใน 2 ปีนี้ ลงทุนด้านนวัตกรรมการแพทย์
ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา BDMS เน้นการแนวทางส่งเสริมการป้องกันการเกิดโรค (prevention) ก่อนการรักษา จึงมองหานวัตกรรมใหม่ๆทางการแพทย์เข้ามาช่วยพัฒนาการบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กร มีการจัดตั้งฝ่ายนวัตกรรมขึ้นมาดูแล
BDMS แจ้ง ตลท. ตั้งบริษัทย่อยด้านธุรกิจสื่อโฆษณาในซาอุดิอาระเบีย
BDMS เดินหน้าฝึกไรเดอร์ทำCPR เพิ่มโอกาสคนรอดชีวิตจากเหตุฉุกเฉิน
โดยปีนี้กลุ่ม BDMS ทุ่มงบลงทุนด้านนวัตกรรมในช่วง 2 ปีนี้ (2566- 2567) รวมกว่า 1,500 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนเงินลงทุนให้ Startup ไทย ระดับซีรีย์ A ทำให้เกิดเป็นโครงการอย่างเป็นรูปธรรมแก่ผู้ใช้บริการในปี 2566 ได้แก่
1.Ooca (อู-ก้า) แอปพลิเคชัน ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานในการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาแบบออนไลน์ โดย BDMS เข้าไปสนับสนุน Startup ไทยรายนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า Ooca ตอบโจทย์ในเรื่องของการป้องกันก่อนรักษา (prevention) ช่วยดูแลเรื่องของสุขภาพใจ ซึ่งแอปฯ Ooca มีผู้ใช้บริการกลุ่มเป้าหมายเป็น บุคคลทั่วไปที่สภาวะเครียด ความกลัว ความกดดันในชีวิต และต้องการเข้ารับการประเมินสุขภาพจิต จากนั้นหากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ วินิจฉัยว่าผู้ใช้บริการอยู่ในระดับที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ก็สามารถส่งต่อมายังโรงพยาบาลในเครือ BDMS ได้
2.Perceptra ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการอ่านผลเช็กเอกซเรย์ช่วยนักรังสีการแพทย์ โดยได้รับการยอมรับจากบุคลากรทางการแพทย์ และผลงานที่ผ่านมา Startup ไทยเจ้านี้ ก็เคยร่วมงานกับโรงพยาบาลศิริราชมาก่อน และในระยะถัดไปเตรียมเปิดตัว การตรวจแมมโมแกรมที่ใช้ในการตรวจมะเร็งเต้านม
3.Mineed เข็มปักใต้ผิวหนังเพื่อส่งผ่านยา โดยที่เข็มละลายได้ (Microneedle) เพื่อใช้ในวงการแพทย์ วงการเสริมความงาม (Botox , ยาชาใต้ผิวหนัง) โดยบาดเจ็บน้อยกว่าและไม่เป็นพิษกับร่างกาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ก่อนจะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการสนันสนุน Sukha เป็นโครงการพัฒนา พลาสเตอร์ปิดแผล ที่ต่อยอดจากการวิจัยของอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีคุณสมบัติ เป็นเซลลูโลสที่ใช้แทนตัวพลาสเตอรที่เป็นพลาสติกปิดแผล และสามารถช่วยสมานแผลได้ และยังทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้
และในไตรมาส 3 ปีนี้ ยังเตรียมเปิดตัวแอปฯ BeDee ที่จะเป็น Ecosystem platform ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน คือ Telehealth สำหรับการพบแพทย์ Telepharmacy สำหรับการพบเภสัช Tele medicine สำหรับการสั่งยา Health mall สำหรับการหาสินค้าเวชภัณฑ์ และ Health Content ความรู้ข้อมูลสุขภาพ สำหรับแอปฯ BeDee เกิดขึ้นจากความร่วมกับ Startup ที่ชื่อว่า CARIVA ที่อยู่ภายใต้บริษัท ปตท.สผ. ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองใช้งาน มีแพทย์อยู่ใน platform แล้ว 200 ราย ตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 500 ราย ก่อนเปิดตัวให้ประชาชนได้อย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยแอปฯนี้จะเป็น One stop service ด้านการดูแลและรักษาสุขภาพ พร้อมส่งต่อไปยังการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างครบวงจร
สำหรับ Tech Startup โครงการข้างต้นเกิดจากการคัดเลือกจากการนำเสนอของทางกลุ่ม Startup ทั้งสมาคม Thai Health Tech Startup และ CU Innovation Hub ซึ่งเมื่อ BDMS เห็นศักยภาพของโครงการ ก็จะเริ่มพิจารณาความรู้ ความสามารถของผู้ร่วมก่อตั้ง มีมูลค่าการตลาด (Market size) และมีโอกาสการเติบโต รวมถึงสามารถนำจุดแข็งของ BDMS เข้าไปสนับสนุนธุรกิจได้หรือไม่ จากนั้นเมื่อได้รับคัดเลือก Health Tech จะได้เริ่มทดลองในโครงการ Sandbox โดยมีสัดส่วนความสำเร็จในโครงการสูงถึง 50 % เนื่องจากทาง BDMS มีการพิจารณาโครงการก่อนจะเป็น Sandbox อย่างเข้มงวด
BDMS ปั้น Startup ไทย หวังนำ Thai Health Tech ขึ้นเป็น Unicorn กว่าจะเป็นโครงการของ Startup ที่ BDMS เข้าไปสนับสนุนเงินทุนให้ ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน BDMS บอกว่า ก่อนหน้านี้เปิดโอกาสให้ทั้ง Startup ต่างชาติ และ Startup ไทย แต่สุดท้ายเมื่อผ่านกระบวนมาจนถึงรอบสุดท้าย ทำให้ BDMS ตัดสินใจเลือกสนับสนุน Startup ไทย เนื่องจากเมื่อเทียบเคียงในเรื่องประสิทธิภาพ พบว่ามีความใกล้เคียงกัน แต่ Startup ทำได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า รวมถึงในช่วงที่ Startup อยากจะเติบโต (scale up) จะนึกถึง BDMS โดยที่ไม่กลัวการถูกครอบง่ำเหมือนกับบริษัทที่ร่วมลงทุน หรือ CVC (Corporate Venture Capital) รายอื่นๆ รวมถึง BDMS อยากจะสนับสนุนให้ Startup สามารถเติบโตในระยะยาวได้ โดยมีเป้าหมายปั้น Thai Health Tech เป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) หรือมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว BDMS ยังได้นำร่องให้ความสำคัญในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น การบริหารจัดการขยะในโรงพยาบาล ด้วยการแยกขยะติดเชื้อและขยะที่ไม่ปนเปื้อนเชื้อเพื่อนำมารีไซเคิล และให้ความสำคัญในเรื่องของการประหยัดพลังงาน เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
ขณะที่นิยามความยั่งยืนของ BDMS วันนี้ คือ การสร้างองค์กร สังคม พันธมิตร และประเทศให้เติบโตไปพร้อมๆกัน ผ่านการสนับสนุน Startup ในกลุ่ม Health Tech รวมถึงอยากให้คนไทยเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กล่าว