หมอเตือน อย่าซื้อ“ยาพรัสเซียนบลู”แก้พิษซีเซียม-137 มากินเองหวั่นผลข้างเคียงรุนแรง
คณะแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงยืนยัน สารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ความเสี่ยงต่ำ ปริมาณรังสีน้อยกว่าเหตุการณ์ โคบอลต์-60 ปี 2542 กว่า1,000 เท่า โอกาสปนเปื้อนสภาพแวดล้อมน้อยมาก เป็นไปไม่ได้ที่จะฟุ้งกระจายไกล 1,000 กิโลเมตร ขณะที่ยาพรัสเซียนบลู (Prussian blue) ไม่แนะนำให้ซื้อมากินเองเนื่องจากอาจได้รับผลข้างเคียงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ อีกทั้งยังไม่มีสต๊อกยืนยันไทยยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ด้าน อย. เตรียมนำเข้า
คณะแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวข้อกังวล สารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 จังหวัดปราจีนบุรีและยาพรัสเซียนบลู (Prussian blue) ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และดร.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา
พบ “ซีเซียม-137” ปนเปื้อนในเขม่าหลอมเหล็ก ยันถูกจำกัดพื้นที่-ปลอดภัย
พบซีเซียม-137 ปนเปื้อนเตาหลอม 1 ใน 3 เตา รังสีอยู่ในระดับต่ำ
แพทย์หญิงสาทริยา ระบุถึง ซีเซียม (Cesium, Cs-137) เป็นสารกัมมันตรังสี โดยเป็นไอโซโทปของซีเซียม มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) ประมาณกว่า 30 ปี เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา ซึ่งเมื่อได้รับก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายแบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะสั้น และระยะยาว
ผลในระยะสั้น ทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้ ผลต่อระบบอื่นในร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อได้รับปริมาณที่สูงมาก โดยจะมีอาการนำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจะมีผลต่อ 3 ระบบหลักของร่างกาย ได้แก่ ระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ โดยผลกระทบแต่ละระบบ มีดังนี้
- ระบบโลหิต มีผลกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดต่ำลงได้
- ระบบทางเดินอาหาร มีผลทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือด
- ระบบประสาท ทำให้สับสน เดินเซ ซึมลง และชักได้โดยเฉพาะในรายที่รุนแรง
ขณที่ผลในระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
แพทย์หญิงสาทริยา ยังได้ระบุถึง ยาพรัสเซียนบลู (Prussian blue) แก้พิษซีเซียม-137 ขณะนี้ ซึ่ง Prussian blue เป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน ใช้แพร่หลายในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่ใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียมในผู้ป่วย ที่ยืนยันแล้วว่า มีซีเซียมอยู่ภายในร่างกายสูงเท่านั้น สำหรับคนในพื้นที่หรือเผลอสัมผัสสารซีเซียมหรือปนเปื้อนตามร่างกายไม่แนะนำให้ใช้
กลไกการออกฤทธิ์หลักของ Prussian blue คือ Prussian blue จับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (enterohepatic recirculation)อย่างไรก็ตาม Prussian blue มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษาได้ เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้ ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อยาตามอินเตอร์เน็ตมากินเองเนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงได้ การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์เท่านั้น
นายแพทย์วินัย ได้เสริมว่ายาพรัสเซียนบลู ที่ใช้เป็นยาต้านพิษ ไม่มีสต๊อกอยู่ในประเทศ
ก่อนหน้านี้ ศูนย์พิษวิทยา ของรามาธิบดี ได้มีสต๊อกไว้บ้าง ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องใช้เลย ยาจึงหมดอายุไป ซึ่งขณะนี้จึงไม่มียาพรัสเซียนบลู ที่จะใช้ แต่ขณะนี้ ทราบว่าทางสำนักงานอาหารและยา หรือ อย. ได้เริ่มจัดซื้อเข้ามาเพื่อให้มีอยู่เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม และยืนยันว่าสถานการณ์ในประเทศขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว
นายแพทย์วินัย กล่าว
อ.อ๊อด เผยเตรียม “ยาปรัสเซียนบลู”ป้องกันพิษซีเซียม-137 ผ่อนหนักให้เป็นเบา
ด้านข้อกังวลซีเซียม-137
ดร.กฤศณัฏฐ์ ระบุ ถึงความรุนแรงของซีเซียม-137 ในครั้งนี้ว่าอยู่ที่ 41.4 mCi ซึ่งเมื่อเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 mCi (ลดลงตามธรรมชาติ)หากคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.000505 กรัม (505 ไมโครกรัม) ซึ่งการใช้ประโยชน์จากซีเซียม ทั้งทางการแพทย์และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งความแรงของรังสีในครั้งนี้เมื่อเทียบกับใช้ในโรงพยาบาล น้อยกว่าถึงประมาณ 1 พันเท่า หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อปี2529 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 27 kg หรือ 2.35×109 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุ 56.76 ล้านเท่า และหากเทียบกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา (Fukushima Daiichi) เมื่อปีพ.ศ.2554 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 17 PBq = 4.60×108 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุนี้ 11 ล้านเท่า เช่นเดียวกับหลายคนนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ โคบอลต์-60 ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา เมื่อปี 2542 นั้น มีความแรงรังสีกว่าซีเซียม 1 พันเท่า ในแง่ของพลังงานโคบอลต์-60 มากกว่าประมาณ 2 เท่า จึงเป็นที่มาของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ดร.กฤศณัฏฐ์ ยังระบุต่อว่า ซีเซียมจุดเดือดต่ำเมื่อเทียบกับเหล็ก คือจุดเดือด 671 องศาเซลเซียส จึงทำให้ถ้าเกิดการหลอม ซีเซียมจะระเหยเป็นไอและเป็นฝุ่นในห้องหลอม หากละเลยไม่ได้ถูกกักเก็บในระบบปิดก็มีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้ ขณะที่จากข้อมูลตามการแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ การหลอมเป็นระบบปิดและมีตัวกรองของเตาหลอม ถ้ามีการจัดเก็บฝุ่นในระบบปิดตามที่แถลง โอกาสที่จะมีรังสีซีเซียมปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมจึงน้อย และ ยังยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะกระจายไกลไปถึง 1,000 กิโลเมตรตามที่มีการนำเสนอออกไปก่อนหน้านี้ เพราะมีปริมาณค่อนข้างน้อยถูกเจือจางตามธรรมชาติ ซีเซียมมีความหนักกว่าฝุ่น PM2.5 จึงจะไม่ได้ปลิวไปไกลอีกทั้งยังไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษของสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
ส่วนข้อกังวลที่จะปนเปื้อนในผลไม้นั้น ตามความเป็นจริงพืชผัก ผลไม้ นมที่ดื่ม มีสารกัมตรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้ว และขั้นตอนกว่ารังสีในดินจะปนเปื้อนในผักหรือผลไม้ต้องใช้เวลาอีกทั้ง ซีเซียมที่เป็นประเด็นมีปริมาณต่ำ จึงไม่มีโอกาสเลยที่จะทำให้ผลไม้ในพื้นที่จะมีการปนเปื้อน และย้ำว่าทุกคนยังสามารถรับประทานได้อยู่เป็นปกติ
คำแนะนำสำหรับประชาชน
ตปอนนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าซีเซียมที่ถูกหลอมเป็นชิ้นที่หายไปจริง ยังรอกระบวนการพิสูจน์ ประชาชนในพื้นที่ยังต้องช่วยกันระแวดระวังและสังเกตวัตถุต้องสงสัย แนะนำให้สังเกตป้ายสัญลักษณ์รังสี และให้แจ้งสายด่วน 1296 โดยย้ำว่า กรณีเจอวัตถุต้องสงสัยไม่ควรไปนำมาส่งคืน หรือพยายามพิสูจน์ด้วยตนเอง สิ่งที่ควรทำคือปิดกั้นบริเวณและแจ้งสายด่วน เนื่องจากรังสีสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดรังสีเท่านั้น
สธ. เผย“ซีเซียม-137”ที่สูญหาย ยังปลอดภัยหากยังอยู่ในเครื่องกำบัง
ผลตรวจเลือดคนงานเสี่ยง ซีเซียม-137 ยังปกติ รอผลในปัสสาวะ 2 สัปดาห์