หลังมีการประกาศตามหาท่อขนาดใหญ่ที่มี “ซีเซียม-137” สารกัมมันตรังสีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหากไม่ได้อยู่ในท่อ หรือถูกแกะออก ซึ่งหายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา
ก่อนจะมีการเปิดเผยว่า ท่อสารซีเซียม-137 หายไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าวเพิ่งทราบเรื่องและแจ้งให้หน่วยงานราชการทราบในวันที่ 10 มีนาคม 2566 จนนำไปสู่การประกาศตามหา
จนวานนี้ (19 มีนาคม 2566) ได้มีการตรวจพบ วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียมแล้ว ในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปราจีนบุรีนั้น
ล่าสุด นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบสารซีเซียม-137 ในเขม่าหรือฝุ่นแดง ซึ่งบรรจุอยู่ในบิ๊กแบ็ก เตรียมจะขนส่งไปขายต่อ แต่ยังไม่ได้ขนส่งออกไป
เบื้องต้นตรวจทั้งรถบรรทุกที่ขนส่งของโรงงานไม่พบสารกัมมันตรังสี รวมถึงรอบๆ โรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร ยังไม่พบสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด
ในกระบวนการของโรงหลอมเหล็ก เราไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์นั้นหลอมหรือยัง เพราะเมื่ออุณหภูมิร้อนเกิน 600 องศาเซลเซียส สารซีเซียมจะสลายไปก่อน ซึ่งในเตาหลอมเหล็กอุณหภูมิสูงเป็น 1,000 องศาเซลเซียมอยู่แล้ว ทำให้แท่งหล็กที่ออกมาไม่มีการปนเปื้อน การปนเปื้อนจะไปอยู่ที่เขม่าหรือฝุ่นแดง ตอนนี้สารซีเซียมเป็นฝุ่นเหล็กไปแล้ว แต่กระบวนการนี้เป็นการเผาในระบบปิด ถูกจำกัดพื้นที่แล้ว ยืนยันว่าปลอดภัย
สำหรับข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกไปว่า มีการขนส่งฝุ่นแดงออกไปประมาณสิบบิ๊กแบ็กในจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบด้วยเครื่องมือที่สามารถตรวจวัดสารซีเซียม-137 ในอนุภาคขนาดเล็กแล้ว ยืนยันว่าไม่มีการปนเปื้อนในล็อตแรก
แต่ในล็อตที่ 2 ที่บริษัทฯ เขานำไปถมที่ด้านหลังโรงงาน ตรวจสอบเจอการปนเปื้อน แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้ขุดดิน เอาดินปนเปื้อนนั้นมาเก็บไว้ที่เดียวกันกับฝุ่นแดงที่พบการปนเปื้อน ซึ่งควบคุมและถูกจำกัดพื้นที่แล้ว เตรียมขนย้ายนำไปเก็บไว้เพื่อรอการย่อยสลายอย่างปลอดภัยต่อไป
ด้านสุขภาพของประชาชนนั้น จากการตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง คือ พนังงานภายในโรงงานกว่า 70 คน ยังไม่พบมีการเปรอะเปื้อนสารกัมมันตรังสี และจากการตรวจสอบสุขภาพย้อนหลัง 1 เดือนของประชาชนในจังหวัดปราจีนบุรี ไม่พบรายใดมีอาการสุ่มเสี่ยง
นายเพิ่มสุข ยังกล่าวถึงโรงไฟฟ้าที่ทำสารซีเซียมหายอีกว่า เป็นโรงไฟฟ้าที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูง คนนอกไม่สามารถเข้าออกได้ แม้กระทั่งแต่ตัวเองและผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีลงพื้นที่ไปตรวจก็ยังไม่สามารถเข้าได้ โดยโรงงานถือครองวัสดุมาตั้งแต่ปี 2538 (26-27 ปี)
ส่วนจะหายไปได้อย่างไรนั้น เนื่องจากวัสดุเคยตั้งอยู่ในที่สูง ตั้งคำถามกลับว่าจะหายไปได้อย่างไรถ้าไม่มีคนเอาลงมา พร้อมบอกว่า โรงงานทำผิด พ.ร.บ.นิวเคลียร์ ที่ไม่แจ้งทันทีหลังวัสดุนี้หายไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่มาแจ้งวันที่ 10 มีนาคม 2566 ผู้ครอบครองจะมีโทษปรับ 1 แสน จำคุกไม่เกิน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม วัสดุนี้หายไปได้อย่างไรนั้น ตำรวจอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการไล่ตรวจสอบกล้องวงจรปิด และสอบปากคำเพิ่มเติม หลังสอบผู้เกี่ยวข้องไปประมาณ 10 คน ยังไม่พบว่า ใครรู้หรือเห็นว่าหายไปได้อย่างไร