ปลัด สธ.ยอมรับแพทย์ขาดแคลน ส่งผลให้งานหนัก หมอจบใหม่แห่ลาออก
ปลัด สธ.ยอมรับแพทย์ขาดแคลน ส่งผลให้งานหนักเป็นบางจุด เร่งแก้ไขปัญหาเพิ่มค่าตอบแทน และลดภาระงาน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นที่แพทย์จบใหม่จำนวนมากแห่ลาออก เหตุงานหนักเกินไป ว่า วันนี้ที่กระทรวงจะมีการแถลงข่าว ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลในภาพรวม เหตุการณ์ที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ
ส่วนยอดแพทย์จบใหม่ที่ลาออกจากราชการมีเท่าไรนั้น ขอให้เราฟังการแถลง เพราะมีรายละเอียดตัวเลขค่อนข้างเยอะ
แต่เรื่องจะมีนโยบานไม่รับแพทย์จบใหม่ นพ.โอภาส ถามกลับว่า มีนโยบายดังกล่าวด้วยหรือ มีแต่อยากรับเพิ่ม แต่ผู้อนุมัติ ให้รับหรือไม่คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชพลเรือน (ก.พ.) และรัฐบาล
กระทรวงสาธารณสุขเตรียมแถลงด่วนวันนี้ ปม“หมอจบใหม่”แห่ลาออก!
รู้จัก “ปุยเมฆ นภสร” หมอดีกรีนักแสดง-นักร้องค่ายดัง สวย เก่งรอบด้าน สเตตัสไม่โสดแล้ว
นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า ความต้องการของประชาชนในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขมีสูง โดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่กระทรวงมีบุคลากรจำกัด ต้องขอบคุณพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ได้อนุมัติบุคลากรตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา จำนวนกว่า 45,000 อัตรา ทำให้ความกดดันด้านบุคลากรลดลง แต่ยังไม่หมดเนื่องจากความต้องการของประชาชนมีเยอะ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งให้แบบเหมาจ่ายรายหัว จึงหวังว่าจากนี้จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นให้เท่ากับจำนวนผู้มาใช้บริการ จะสังเกตได้ว่า ทุกอย่างอยู่นอกการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาบริการให้กับประชาชน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
จึงต้องขอขอบคุณ แพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ที่เสียสละทุ่มเทเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด
ส่วนหลังจากนี้จะเกิดภาวะสมองไหลทางการแพทย์หรือไม่นั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า จากนี้คงต้องใช้มาตรการในรายภาคส่วน เพราะบุคลากรจะอยู่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากค่าตอบแทน ซึ่งจะต้องมีการเปรียบเทียบกับภาคเอกชน ทางกระทรวงจึงได้เพิ่มค่าตอบแทนในส่วนของค่าทำงานล่วงเวลา และสร้างบ้านพักสวัสดิการให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ รวมถึงเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพ มีการปรับเลื่อนระดับแพทย์ เป็น ซี 9 เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับพยาบาลมีการพิจารณาปรับเลื่อนระดับเป็น ซี 8 - ซี 9 ตามระเบียบของ ก.พ.
ปัญหาเรื่องเนื้องาน น่าจะเป็นส่วนที่แก้ยากที่สุด เนื่องจากมีความต้องการค่อนข้างมาก แต่หากได้งบประมาณเพิ่มขึ้นทรัพยากรบุคคลเพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามลำดับ
เบื้องต้นได้กำชับ เรื่องการดูแลสวัสดิการ และภาระงานไม่ให้หนักเกินไป ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขพบว่าภาระงานเริ่มลดลง มีเพียงบางจุดที่ยังมีปัญหา โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์ทั่วไปในตัวเมือง จะมีภาระงานมากกว่าโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่ก็ต้องแก้เป็นจุดๆ ไป โดยยึดนโยบายว่า ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันแต่ละโรงพยาบาลสามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรใช้ร่วมกันได้ แต่โดยภาพรวมถือว่าดีขึ้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องจดหมายลาออก นพ.โอภาส กล่าวว่า ในภาพรวมบุคลากรที่รับเข้าระบบ แต่ละปีประมาณ 2,000 คน ที่ลาออกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เมื่อเรียนจบแล้ว บางคนอยากจะไปเรียนต่อ ประมาณ 10% ต่อปี แต่ยังมีบุคลากรที่กลับเข้ามาในระบบสัดส่วนที่สูงกว่า
ยืนยันว่าหากบุคลากรยังทำงานต่อ การกระทรวงบรรจุเข้าสู่ระบบราชการเกือบทุกคน แต่บางครั้งแค่ที่ไม่ได้เข้าระบบใช้ทุน เช่นแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะไม่อยู่ต่อ