โควิด-19 รอบสัปดาห์ติดเชื้อลดลง สวนทางไข้หวัดใหญ่-ไวรัส RSV ระบาดเพิ่ม!
สถานการณ์โควิด-19 รอบสัปดาห์ที่ 34 พบยอดผู้ติดเชื้อโควิดลดลงเหลือ 256 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 1 คน ด้านหมอยงเผยสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่แนวโน้มสูงขึ้นหลังโรคสงบในช่วงที่มีการระบาดของโควิดมา 3 ปี เช่นเดียวกับ ไวรัส RSV ที่พบมากพบในเด็ก และกลุ่มผู้สูงอายุ แนะวิธีป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย
กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ ระบุว่า ข้อมูลของสัปดาห์ที่ 34 ระหว่างวันที่ 20-26 สิงหาคม 2566 มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล 256 ราย เฉลี่ยรายวัน 37 รายต่อวัน ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 อยู่ที่ 32,488ราย ขณะที่ผู้ป่วยหนักปอดอักเสบพบรายงาน 124 รายและผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 79 ราย ด้านผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 6 ราย เฉลี่ยวันละ 1 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 อยู่ที่ 790 ราย
โควิด-19 รอบสัปดาห์ ติดเชื้อลดแต่ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออกแนวโน้มสูงขึ้น
เตือน! “ฝีดาษลิง” กทม. 3 วันพบ 10 ราย พุ่งเดือนละ 40 ราย เร่งสอบสวนโรค
สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังไม่พบการรายงานว่ามีผู้เข้ารับวัคซีนเพิ่มเติม โดยในปัจจุบันฉีดวัคซีนสะสม 144,951,341 โดส แบ่งเป็น วัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 57,233,919 โดส คิดเป็น 82.28% เข็มที่ 2 จำนวน 53,730,348 โดส คิดเป็น 77.25% และตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป จำนวน 33,987,074 โดส (อัพเดตวันที่ 26 พ.ค. 2566)
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โรคทางเดินหายใจที่พบบ่อยและกำลังระบาดอยู่ขณะนี้ ไข้หวัดใหญ่และ RSV พบได้บ่อยมากในขณะนี้
ไข้หวัดใหญ่ในปีนี้กำลังระบาดอยู่ หลังจากสงบเงียบในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 มา 3 ปี ในปีนี้พบได้บ่อยและระบาดมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พบได้ทั้ง 3 สายพันธุ์ คือ
ไข้หวัดใหญ่ A ได้แก่ H1N12009, H3N2 และไข้หวัดใหญ่ B ที่ระบาดในปีนี้เป็นสายพันธุ์ Victoria สายพันธุ์เดียวกับที่เคยระบาดทิ้งท้าย ก่อนโควิด 19 เชื้อที่พบในปีนี้พบทั้ง 3 สายพันธุ์จึงเป็นเหตุให้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก
กลุ่มเปราะบาง หรือ 608 ที่เรารู้จักกัน รวมทั้งเด็กเล็ก เป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับการป้องกันด้วยวัคซีน ถึงแม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพไม่สูงมาก แต่จะได้ลดความรุนแรงของโรคลง
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ลดป่วยหนัก-เสียชีวิต ฉีดพร้อมวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ส่วน สถานการณ์ ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ที่พบอยู่ขณะนี้ส่วนมากพบในเด็ก และกลุ่มผู้สูงอายุ ในเด็กที่กำลังระบาดอยู่นี้เป็น RSV สายพันธุ์ B ซึ่งตรงข้ามกับปีที่ผ่านมาการระบาดเป็นสายพันธุ์ A (ON1) RSV เป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นได้อีก เด็กบางคนเป็นทุกปี และจะระบาดไปถึงปลายปีโดยเฉพาะปลายฝนต้นหนาว ถึงแม้ว่าจะมีเพียง 2 สายพันธุ์คือ A และ B แต่ยังแบ่งสายพันธุ์เป็นกลุ่มเล็กๆได้อีก การติดเชื้อสายพันธุ์ A ไปแล้วก็สามารถเป็นสายพันธุ์ A ซ้ำได้หรือเป็นสายพันธุ์ B ก็ได้ (จากการวิจัยของศูนย์ไวรัส จุฬาที่ผมทำอยู่)
ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ RSV ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อในปีต่อไปได้ เช่นเดียวกันกับโควิด 19 จึงทำให้เป็นแล้วเป็นได้อีก ในเด็กปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาใช้วัคซีนในสตรีตั้งครรภ์เพื่อหวังป้องกันในเด็ก ช่วงแรกเกิดหรือ 6 เดือนแรก แต่ในบ้านเรายังไม่มีการนำมาใช้ ส่วนในเด็กวัคซีนคงยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพราะโรคนี้เป็นแล้วเป็นได้อีก
การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับไข้หวัดใหญ่ และ RSV ก็คงหนีไม่พ้นวิธีการป้องกันเช่นเดียวกันกับการป้องกันโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัยในที่มีคนหนาแน่น ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หรือมีอาการทางเดินหายใจ ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
ภาพจาก : Shutterstock
ฟิวชันเป็นไวรัสตัวใหม่! พบไวรัส RSV-ไข้หวัดใหญ่รวมร่างกันได้
สธ.พยากรณ์โรคประจำสัปดาห์ คาดเด็กติดเชื้อไวรัสRSV เพิ่มต่อเนื่อง