รวมผลวิจัย ทำไมต้องมีทางเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
เปิดผลการวิจัยจากหลายแหล่ง ทำไมศูนย์ฉีดบางซื่อ-รพ.หลายแห่ง ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นแบบฉีดเข้าชั้นผิวหนังให้ประชาชน
1 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ประกาศเพิ่มทางเลือกการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 ชนิด mRNA โดยเพิ่ม "การฉีดแบบเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal)" และการฉีดเข้ากล้ามเนื้อครึ่งโดส
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ประชาชนสามารถเลือกรับวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ได้ตามความสมัครใจ แบ่งเป็น การฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาดยาปกติเต็มโดส 0.3 mL หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อปริมาณครึ่งโดส 0.15 mL หรือฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.1 mL
ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ เปิดฉีดเข็ม 4 เลือกฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้
ผลการศึกษา "ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบในชั้นผิวหนัง" ทางเลือกบูสเตอร์ในอนาคตหากต้องการประหยัดวัคซีน
ผลฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 3 ด้วยวิธี "ฉีดเข้าผิวหนัง" ในคนที่ได้ซิโนแวค 2 เข็ม
“ขอเน้นย้ำเป็นไปตามความสมัครใจ และอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ใช่เป็นเพราะปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ ซึ่งทางเลือกดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีการศึกษาและพิจารณาข้อมูลในทางการแพทย์ โดยพบว่า ให้ประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรโดยภาพรวมขณะนี้ยังคงฉีดวัคซีนในปริมาณตามปกติ” พญ.มิ่งขวัญกล่าว
ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องทั้งจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนทั่วไป ให้มีการเพิ่มทางเลือกการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากเดิมที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) เพียงอย่างเดียว ให้เพิ่มการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังด้วย
แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงความต้องการลอย ๆ แต่เป็นเรื่องที่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รองรับ เพราะในอดีตก่อนหน้านี้ ก็มีวัคซีนป้องกันโรคอื่นบางตัวที่ใช้วิธีนี้อยู่แล้ว เช่น วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ที่ใช้วิธีฉีดเข้าผิวหนังมายาวนานกว่า 30 ปี
งานวิจัยแรก ๆ ที่พูดถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าผิวหนัง มาจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยการแพทย์เลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศึกษาอาสาสมัครจำนวน 38 คน ทดสอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาแบบฉีดเข้าผิวหนัง 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ จากนั้นทำการวัดระดับแอนติบอดีเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
- กลุ่มที่ 1 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.1 mL (9 คน)
- กลุ่มที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.2 mL (17 คน)
- กลุ่มที่ 3 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 0.2 mL (12 คน)
ผลศึกษาพบว่า ระดับแอนติบอดีต่อต้านโปรตีนหนามของกลุ่มที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาเข้าชั้นผิวหนังสูงเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยกลุ่มที่ 1 ระดับแอนติบอดีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,696 BAU/mL ส่วนกลุ่มที่ 2 อยู่ที่ 2,057 BAU/mL และในกลุ่มที่ 3 อยู่ที่ 1,406 BAU/mL
เทียบกันแล้วจะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกันมาก รวมถึงผลข้างเคียงก็แทบไม่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถใช้วัคซีนปริมาณน้อยลงได้ แต่ผลลัพธ์ไม่ต่างจากเดิม จึงเริ่มมีการพูดถึงในไทยว่า เราควรนำวิธีฉีดแบบเข้าชั้นผิวหนังมาใช้กับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ เพราะเดิมทีวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 โดสจะแบ่งฉีดให้ได้ 2-3 คน แต่หากฉีดเข้าผิวหนัง อาจแบ่งฉีดได้ 5-10 คนเลยทีเดียว
เมื่อต่างประเทศเริ่มศึกษา ไม่นานประเทศไทยก็เอาบ้าง โดยงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ของไทยได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าเข็ม 3 แบบฉีดเข้าผิวหนังในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อครบ 2 เข็ม นำโดย ผศ.ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
งานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่โดยวารสาร Vaccines ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติที่เผยแพร่งานวิจัยหรือการศึกษาที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
ทีมวิจัยทำการศึกษาในอาสาสมัคร 1 รายที่เป็นบุคลากรด้านสุขภาพ เพศชาย อายุ 52 ปี ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแบบฉีดเข้ากลามเนื้อ ในวันที่ 21 เม.ย. และ 23 พ.ค. 2564
โดยก่อนได้วัคซีนเข็ม 3 ตัวอย่างซีรั่มจากอาสาสมัครคนดังกล่าว ณ วันที่ 17 มิ.ย. (25 วันหลังฉีดซิโนแวคเข็ม 2) พบว่า มีแอนติบอดีชนิด IgG อยู่ที่ 853.6 AU/mL ส่วนระดับ Neutralizing Antibody (NAb) อยู่ที่ 66.77%
จากนั้น อาสาสมัครเข้ารับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าขนาด 0.1 มิลลิลิตรแบบฉีดเข้าผิวหนังในวันที่ 29 มิ.ย.
พบว่า วันที่ 12 ก.ค. หลังฉีดแอสตร้าเซเนก้าเข็ม 3 แบบฉีดเข้าผิวหนังผ่านไป 2 สัปดาห์ ระดับ IgG เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10,465.20 AU/mL ส่วนระดับ NAb อยู่ที่ 99.58%
และวันที่ 19 ก.ค. ผ่านไป 3 สัปดาห์หลังรับเข็ม 3 ระดับ IgG เพิ่มขึ้นอีกจนมากกว่า 14,176.80 AU/mL ส่วนระดับ NAb อยู่ที่ 99.66%
นอกจากนี้ยังพบ T-Cell หรือเซลล์ที่มีหน้าที่จำกัดเซลล์ที่ติดเชื้อ ชนิดที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ด้วย
โดยสรุป การตอบสนองของแอนติบอดีและระดับเซลล์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าแบบฉีดเข้าผิวหนังเป็นวัคซีนเข็ม 3 ของอาสาสมัครที่ได้ซิโนแวค 2 เข็มแล้ว พบว่า แอนติบอดีทั้งหมดในการรับมือโปรตีนหนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งชนิด IgG, NAb และการตอบสนองของ T-Cell
งานวิจัยชิ้นที่ 3 ยังคงเป็นของนักวิจัยไทย นำโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์เข็ม 3 บูสเตอร์โดสแบบฉีดเข้าผิวหนัง ในผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 โดส ทีมวิจัยศึกษากลุ่มตัวอย่าง 91 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ 1 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 0.3 mL (30 คน)
- กลุ่มที่ 2 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 0.15 mL (30 คน)
- กลุ่มที่ 3 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.06 mL (31 คน)
พบว่า เมื่อผ่านไป 14 วัน ระดับแอนติบอดีชนิด IgG ของกลุ่มที่ 1 เฉลี่ยอยู่ที่ 3,884 BAU/ml ของกลุ่มที่ 2 อยู่ที่ 2,837 BAU/ml และของกลุ่มที่ 3 อยู่ที่ 1,962 BAU/ml
และเมื่อผ่านไป 28 วัน ระดับแอนติบอดีชนิด IgG ของกลุ่มที่ 1 ลดลงมาอยู่ที่ 2,622 BAU/ml ของกลุ่มที่ 2 อยู่ที่ 1,952 BAU/ml และของกลุ่มที่ 3 อยู่ที่ 1,205 BAU/ml
ทีมวิจัยจึงสรุปว่า พบว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้น 0.1 mL เข้าทางผิวหนังสามารถลดปฏิกิริยาทางระบบได้อย่างมากเมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเต็มขนาด
อย่างไรก็ตาม การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนังนั้นแม้ถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังน้อยกว่าเข็มกระตุ้นแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อครบโดส
แต่ข่าวดีคือ แม้ว่าระดับแอนติบอดีหลังการฉีดวัคซีน mRNA เข้ากล้ามเนื้อจะเหนือกว่าการแบ่งฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แต่ความสามารถในการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา อยู่ในระดับพอ ๆ กันกับกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งสองกลุ่ม ทีมวิจัยจึงเสนอให้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลง และมีข้อดีพิเศษคือผลข้างเคียงน้อยลง
งานวิจัยสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็ยังเป็นงานวิจัยของไทย โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน วิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับไบโอเทค ศึกษาประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็ม 3 แบบฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.1 mL ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็มจำนวน 100 คน แล้วเทียบผลลัพธ์กับกลุ่มฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 0.5 mL 100 คน
ผลศึกษาระดับแอนติบอดีชนิด IgG ในกลุ่มฉีดเข้าผิวหนัง พบว่า เมื่อผ่านไป 14 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ 2,037.1 BAU/ml ผ่านไป 28 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ 1,084.9 BAU/ml และเมื่อผ่านไป 90 วัน อยู่ที่ 744.6 BAU/ml
ส่วนแอนติบอดีในกลุ่มฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ผ่านไป 14 วัน ระดับแอนติบอดีชนิด IgG เฉลี่ยอยู่ที่ 2,043.2 BAU/ml ผ่านไป 28 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ 1,499.5 BAU/ml และเมื่อผ่านไป 90 วัน อยู่ที่ 909 BAU/ml
ขณะที่ความสามารถในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาของกลุ่มฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แรกเริ่มอยู่ที่ 95.5% แต่เมื่อผ่านไป 90 วันลดลงมาอยู่ที่ 73.1% ส่วนกลุ่มฉีดเข้ากล้ามเนื้ออยู่ที่ 94.1% แล้วลดลงมาเหลือ 92.8%
ทีมวิจัยระบุว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซเนก้าเข็ม 3 เข้าชั้นผิวหนังในผู้ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มนั้น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในระยะสั้นที่ใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ระดับภูมิคุ้มกันลดลงมากกว่าเมื่อผ่านไป 3 เดือน จึงแนะนำว่า กลยุทธ์การประหยัดปริมาณวัคซีนด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนังนั้นควรใช้ในสถานการณ์ที่วัคซีนไม่เพียงพอมากกว่า
จากงานวิจัยเหล่านี้ เราจะพบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นนั้น มีข้อดีคือสามารถลดปริมาณวัคซีนที่ต้องใช้ในการฉีดได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการวัคซีน ในขณะที่ระดับภูมิคุ้มกันโดยเฉลี่ยก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
แต่ข้อดีที่สุดที่งานวิจัยหลายชิ้นเห็นตรงกัน คือเรื่องของผลข้างเคียงที่จะลดลงกว่าเดิม โดยผลข้างเคียงแบบ Systemic Side Effect หรือผลข้างเคียงทั้งระบบทั่วร่างกาย จำพวกปวดหัว ไข้ขึ้น อาเจียน จะน้อยลง แต่จะมีผลข้างเคียงเฉพาะที่ Local Side Effect คืออาการบวมแดงที่ผิวหนังนานขึ้น ซึ่งหายเองได้โดยใช้เวลาสักพัก เหมาะสำหรับผู้ที่กังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน
ปัจจุบัน มีศูนย์ฉีดวัคซีนหลายแห่งที่เริ่มอนุมัติการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นด้วยวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง นอกจากศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ก็มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ให้บริการแล้ว
ที่มา:
งานวิจัย Intradermal ChAdOx1 Vaccine Following Two CoronaVac Shots: A Case Report