ขั้นตอน-ช่องทางในการบริจาคอวัยวะ แก้วิกฤติการขาดแคลนอวัยวะในไทย
รู้หรือไม่ ? ทุกๆ สัปดาห์จะมีผู้คอยอวัยวะ เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ป่วยการปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทุก ๆ โดย 95% เป็นผู้ป่วยโรคไต เผยคุณสมบัติและช่องทางการรับบริจาคสร้างบุญใหญ่!
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ชี้ยอดผู้ป่วยรอปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ขณะที่มีผู้บริจาคจำนวนน้อยอยู่ โดยเฉพาะโรคไตครองแชมป์รออวัยวะอันดับ 1
รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ระบุว่า ข้อมูล ณ.วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอคอยการบริจาคอวัยวะ มากถึง 7,133 ราย ขณะเดียวกันมีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 465 ราย และ ทุก ๆ สัปดาห์จะมีผู้คอยรับการบริจาคเสียชีวิต 2 รายและมีแนวโน้มผู้รับขอรับบริจาคเพิ่ม
คุณยายบริจาคร่างกายไม่เข้าเงื่อนไข สานต่อความตั้งใจบริจาคดวงตาแทน
เปิดขั้นตอน-ช่องทาง "บริจาคอวัยวะ" ร่วมเป็นผู้ให้ ส่งต่อชีวิต
จากข้อมูลพบว่า 95% เป็นผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนไต มากถึง 6,619 ราย ไต จึงนับเป็นอวัยวะที่ขาดแคลนที่สุด แม้ว่าจะมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะกว่าปีละ 50,000 ราย และ 1 คนสามารถต่อชีวิตได้ถึง 7- 8 ชีวิตแต่ส่วนใหญ่การเสียชีวิตไม่ใช่จากสาเหตุสมองตาย หรือมีข้อห้ามการบริจาคอวัยวะอื่น ๆ เช่น
-
เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น
-
มีการติดเชื้ออวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บทำให้ไม่สามารถนำอวัยวะดังกล่าวไปปลูกถ่ายได้
-
อวัยวะที่นำไปถ่ายทำงานได้ไม่ดี ไม่สามารถเข้ากับผู้รับบริจาคได้
การนำอวัยวะมาปลูกถ่ายจะรับมาจาก 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ ไต และตับ ผู้บริจาคต้องเป็นญาติหรือสายโลหิตร่วม หรือเป็นสามีภรรยาที่อยู่กินอย่างเปิดเผยอย่างน้อย 3 ปี หากผู้รอรับไม่มีญาติที่สามารถบริจาคอวัยวะได้ก็จำเป็นต้องรออวัยวะจากผู้บริจาคเท่านั้น
- ผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ซึ่งสามารถบริจาคได้ทุกอวัยวะได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน และลำไส้เล็ก แพทย์ต้องวินิจฉัยว่ามีภาวะก้านสมองตาย และญาติลงนามยินยอมบริจาคอวัยวะ ซึ่งอวัยวะ ที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ไต 2 ข้าง, ปอด 2 ข้าง, หัวใจ, ตับ ตับอ่อน และลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระจกตา, ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูกและเส้นเอ็น
ทำไมบริจาคอวัยวะได้แค่สมองตาย ?
สมองตาย คือ ภาวะที่แกนสมองถูกทำลายจนสูญเสียการทำงานอย่างสิ้นเชิงและถาวร ทางการแพทย์จึงถือว่าเสียชีวิตแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองตายมาจากการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง หรือเส้นเลือดแตกในสมอง หรือเลือดออกในช่องสมอง
ในการบริจาคอวัยวะ แพทย์จะรับอวัยวะจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย แต่ยังให้เครื่องช่วยหายใจอยู่ และตราบใดที่ร่างกายยังมีออกซิเจนไหลเวียนในเลือด เลือดก็ยังไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ ดังนั้นจึงสามารถนำอวัยวะของผู้ที่มีภาวะสมองตาย ไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่เพื่อความอยู่รอด
คุณสมบัติของผู้บริจาค
-
อายุไม่เกิน 65 ปี
-
เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
-
ปราศจากโรคติดเชื้อรุนแรงและโรคมะเร็ง
-
ไม่เป็นโรคเรื้อรังซึ่งทำให้อวัยวะเสื่อม
-
อวัยวะที่นำไปปลูกถ่ายทำงานได้ดี
-
ปราศจากเชื้อโรคซึ่งอาจจะถ่ายทอดทางการปลูกถ่าย เช่น ไวรัสตับอักเสบบีหรือเอดส์ เป็นต้น
บริจาคอวัยวะและบริจาคร่างกายต่างกันอย่างไร ?
- บริจาคอวัยวะ คือ การส่งต่ออวัยวะเมื่อเสียชีวิต หรือยังมีชีวิตอยู่(ญาติสายตรงหรือสามีภรรยาที่อยู่กินอย่างเปิดเผยกว่า 3 ปี)แล้ว เพื่อนำไปต่อชีวิตของผู้ป่วยที่รอคอยอยู่
- บริจาคร่างกาย คือ คือการส่งต่อร่างกายเพื่อนำไปเป็นอาจารย์ใหญ่ ให้กับนักศึกษาแพทย์เพื่อค้นคว้าต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคอวัยวะ
-
บริจาคออนไลน์
-
เว็บไซต์ www.organdonate.in.th
-
แอปพลิเคชัน บริจาคดวงตา-อวัยวะ
-
ช่องทางการบริจาคอวัยวะด้วยตนเอง
-
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ
-
บริจาคผ่านเครือข่ายฯ อาทิสำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาด ทุกจังหวัด,โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ, สำนักงานเขต เทศบาล และเมืองพัทยา ที่ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน
-
กรมการขนส่งทางบก โดยผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้วสามารถขอเพิ่มสัญลักษณ์ ของสภากาชาดไทย "กากบาทแดงบนพื้นสีขาว" และเพิ่มข้อความ "บริจาคอวัยวะ" ให้แสดงบนหน้าใบอนุญาตขับรถ
-
ในเร็วๆ นี้ยังสามารถแสดงความจำนงผ่าน แอปพลิเคชัน "หมอพร้อม"ได้ด้วย
ถึงแม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคไต ที่สามารถฟอกไตได้ แต่คุณภาพชีวิตผู้ป่วยจะถูกบั่นทอนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ รวมทั้งเทคโนโลยีพัฒนาการปลูกถ่ายไตหมูก็ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การได้รับการปลูกถ่ายไตจากผู้รับบริจาคก็เป็นทางออกและฟื้นฟูที่ดีที่สุดช่วยยืดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้นานหลาย 10 ปีเลยทีเดียว
รศ.นพ.สุภนิติ์ ยังย้ำว่า อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า นี้คือการส่งต่ออวัยวะ เป็นการทำความดีที่ไม่ต้องคิดมาก เพราะผู้บริจาคน้อยคนจะสามารถส่งต่ออวัยวะได้ เพราะต้องเสียชีวิตจากสมองตายเท่านั้น จึงจะบริจาคได้ อีกทั้งยังเป็นบุญใหญ่แสดงเจตนาเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วย โดยแม้ว่า 1 ผู้บริจาคจะสามารถบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อเพื่อนำไปปลูกถ่ายอาจช่วยเหลือชีวิตคนได้ 8-9 ชีวิตเลยทีเดียว
หากผู้บริจาคเสียชีวิตแล้ว ญาติควรทำอย่างไร?
ในกรณีที่ญาติรับทราบว่าผู้เสียชีวิตได้แสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะไว้ สามารถโทรแจ้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยทันทีหลังผู้บริจาคเสียชีวิต โดยโทร. 1666 หรือ 0-2256-4045-6 ซึ่งแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อประเมินสภาพการทำงานของอวัยวะว่าเหมาะสมสำหรับนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยอื่นหรือไม่ จากนั้นจะผ่าตัดนำอวัยวะออก (ใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง) ภายหลังผ่าตัดแล้วแพทย์จะตกแต่งร่างให้คงเดิม และมอบร่างให้ญาตินำกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
น.ศ.ปี 4 ประสบอุบัติเหตุสมองตาย บริจาคอวัยวะ สร้างกุศลอันยิ่งใหญ่
น.ศ.ปี 4 ประสบอุบัติเหตุสมองตาย บริจาคอวัยวะ สร้างกุศลอันยิ่งใหญ่