ด่วน! กทม.พบคนกินเหล้าเถื่อนป่วย 19 ราย ตาย 1 ราย เตือน 6 เขต สังเกตอาการ
ด่วน! กทม.พบผู้ป่วย "เมทานอล" เป็นพิษ 19 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เตือนซื้อเหล้าเถื่อน 6 เขต 18 พื้นที่ เฝ้าสังเกตอาการ
สำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร แจ้งข่าวด่วน พบประชาชนดื่มสุรา (สุราต้ม) ยาดอง มีอาการเป็นพิษ เข้าโรงพยาบาลหลายราย อยู่ในพื้นที่หทัยราษฎร์ 33 , ถนนสามวา 1 , ถนนสามวา 6
โดย นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมนายพีรวัส พูนวิทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองสามวา หัวหน้าฝ่าย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยว ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินกรณีประชาชนดื่มสุรา (สุราต้ม) ยาดอง มีอาการเป็นพิษ เข้าโรงพยาบาลหลายราย
เบื้องต้นมีข้อมูลว่า พบผู้ป่วย Methanol intoxication ระหว่างวันที่ 22 – 23 ส.ค. 2567 เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยข้อมูล ณ เวลา 19.22 น. พบผู้ป่วยรวม 19 ราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
แบ่งเป็นผู้ป่วยที่เข้ารรักษาตัวที่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 9 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย โรงพยาบาลนวมินทร์ 1 ราย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รามคำแหง 1 ราย โรงพยาบาลเสรีรักษ์ 1 ราย (เสียชีวิต) และมีรายงานการพบผู้ป่วยเพิ่มเติม 6 ราย
ประวัติเสี่ยงของผู้ป่วย ซื้อสุรา (สุราต้ม) จาก 3 พื้นที่
- ซอยหทัยราษฎร์ 33 ชุมชนหมู่บ้านร่มทิพย์ (เขตคลองสามวา) ผู้ป่วย 7 ราย
- ซอยสามวา 1 (เขตมีนบุรี)
- ซอยสามวา 6 (เขตมีนบุรี)
โดยการสืบสวนเบื้องต้น พบต้นทางจากร้านส่ง พิกัดซอยหทัยราษฎร์ 21 (เขตมีนบุรี) ซึ่งทาง สน.มีนบุรี สน.นิมิตรใหม่ เร่งสืบสวนและขยายผลเป็นการด่วน
ทั้งนี้ขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่ซื้อสุราต้ม ยาดอง หรือสุราอื่นใด ในพื้นที่ ถนนหทัยราษฎร์ พื้นที่ถนนสามวา พื้นที่ถนนเจริญพัฒนา รวมถึงบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ หากบริโภคแล้วมีอาการเหนื่อยหอบง่าย ซึม อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว ส่วนใหญ่มักมีอาการใน 12 ชั่วโมง เร่งเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลโดยด่วน
สามารถติดต่อ ศูนย์ประสานงาน War Room (เคสเมทานอล) รพ.นพรัตนราชธานี โทร. 02 548 1000
3 เขต 18 พื้นที่ สังเกตอาการด่วน
ทั้งนี้ กทม. แจ้งพิกัดอันตราย ร้านที่รับสุราเถื่อน (เมทานอล) ไปขาย มีทั้งหมด 6 เขต 18 พื้นที่ ดังนี้
เขตมีนบุรี
- ซอยสามวา 1
- ซอยเสรีไทย 95
- ตลาดบางชัน
- หน้าเคหะรามคำแหง
- ตรงข้าม โรงเรียนสุดใจวิทยา (ถนนหทัยราษฎร์)
เขตหนองจอก
- ซอยสุวินทวงศ์ 64
เขตคลองสามวา
- ถนนเจริญพัฒนา (ตลาดกีบหมู)
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 7 แยก 1
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 7
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 9
- ซอยประชาร่วมใจ 19
- ซอยประชาร่วมใจ 43/1
- ซอยนิมิตใหม่ 9
- ซอยสามวา 11/1
- ซอยหทัยราษฎร์ 33
เขตลาดกระบัง
- ตลาดบึงใหญ่ - บึงบัว ถนนคุ้มเกล้า
เขตประเวศ
- ซอยอ่อนนุช 70
เขตคันนายาว
- ซอยเสรีไทย 38
"เมทานอล" เป็นพิษ อันตรายถึงชีวิต
สารเมทานอล (methanol หรือ wood alcohol) จะเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่ควรนำมาบริโภค แต่ที่พบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่มเนื่องจาก "เมทานอล" มีราคาถูกกว่า "เอทานอล"
หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกันจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิต จึงมักพบได้ในสุราปลอม ยาดอง เหล้าขาวที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ถูกต้อง
ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่มีเมทานอลปนเปื้อน มักจะพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ขนาดที่เริ่มเป็นพิษประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล
ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ แต่อาการของการเป็นพิษที่เกิดขึ้นจะเกิดการสะสมของกรดฟอร์มิก (formic acid) ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) และเป็นพิษต่อตา (ocular toxicity) ได้
อาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอล ร่วมกับเอธานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก
ผู้ป่วยอาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
อาการที่ค่อนข้างจำเพาะได้แก่ พิษทางตา ได้แก่ ตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (snowfield vision)
นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันผู้ป่วยมักเสียชีวิต
วิธีรักษาพิษจาก “เมทานอล”
การรักษาผู้ป่วยภาวะเป็นพิษจากเมทานอล แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการของผู้ป่วย เมทานอลจะทำให้ผู้ป่วยซึม และกดการหายใจ จึงต้องระวังเรื่องการหายใจ และต้องแก้ภาวะเลือดเป็นกรด
ซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังต้องแก้อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยเพิ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลผสมอยู่ไม่นานนัก อาจพิจารณาวิธีการใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทาง รูจมูก เพื่อนำสารพิษออกจากระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว หรือทำให้อาเจียน
นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยยาต้านพิษที่สำคัญคือการให้เอธานอลไปยับยั้งการเปลี่ยนเมทานอลเป็นกรดฟอร์มิก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษในร่างกาย
ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือถ้าจะให้ดีควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยก็จะปลอดภัย และดีต่อสุขภาพที่สุด
ข้อมูลจาก : รพ.นพรัตนราชธานี, กรมการแพทย์, กองบังคับการตำรวจนครบาล 3