สธ. สรุปสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด 13 จ. พบผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย ปชช.มีเครียดสูง
สธ. สรุปสถานการณ์ล่าสุด อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม พื้นที่ 13 จังหวัดพบผู้บาดเจ็บ 390 ราย เสียชีวิตสะสม 47 ราย ผู้ประสบภัยเครียดหนัก มีภาวะเครียดสูง 521 ราย เสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย กำชับจังหวัดที่จะรับน้ำติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด กำชับดูแลพื้นที่รับน้ำ รวมถึงพื้นที่นำลดให้ระวังโรคระบาด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” กับจังหวัดเสี่ยงในภาคเหนือและภาคอีสาน และกล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยและได้ย้ำให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงเตรียมความพร้อมทั้งยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มเปราะบาง ติดบ้านติดเตียง รวมถึงป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม
สรุปน้ำท่วม-ดินถล่ม คร่าชีวิต 29 ราย เตือน 8 โรคระบาด-ภัยที่ต้องระวัง!
เดินลุยน้ำเท้าเปล่า ระวังโรคฉี่หนู เผยอาการสุ่มเสี่ยง อันตรายถึงชีวิต
ซึ่งส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ เช่น ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ชุดทดสอบโรคฉี่หนู ยาพระราชทาน ยารักษาน้ำกัดเท้า ยากันยุง และรองเท้าบูท เป็นต้น รวม 21,400 ชุด
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ในการบริหารจัดการสถานการณ์ ได้แบ่งจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มรอรับน้ำโขงที่กำลังจะมาถึง เช่น อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ พร้อมสำรวจกลุ่มเปราะบางเพื่อเตรียมแผนเคลื่อนย้าย
- กลุ่มที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เช่น เลย หนองคาย บึงกาฬ ให้เตรียมการป้องกันสถานบริการไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ เช่นที่ หนองคาย เปิดศูนย์พักพิงรวม 17 แห่ง ก็ได้ระดมทีมด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งจังหวัดข้างเคียงและส่วนกลางเข้าสนับสนุนดูแล
- กลุ่มที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งจะต้องเร่งฟื้นฟู ให้เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม ที่พบบ่อยคือ โรคฉี่หนู (leptospirosis) ต้องจัดระบบเฝ้าระวังและค้นหาสัญญาณการระบาดให้เร็ว เพื่อควบคุมโรคได้ทันท่วงที และออกคำแนะนำประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ทีมกู้ชีพ/กู้ภัย หากไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติลุยน้ำย่ำโคลน
สำหรับการดูแลด้านสุขภาพจิต ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ออกปฏิบัติการควบคู่กับการดูแลด้านสุขภาพกาย โดยตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 13 กันยายน 2567 ทำการประเมินและให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทั้งผู้ประสบภัย ญาติผู้สูญเสีย/บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่และชุมชนวงกว้าง รวม 21,680 คน ในจำนวนนี้พบมีภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องแล้ว พร้อมสรุปสถานการณ์พื้นที่น้ำท่วม 13 จังหวัด พบผู้บาดเจ็บ 390 ราย เสียชีวิตสะสม 47 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับยผลกระทบ 55 แห่ง(อัปเดตวันที่ 16 กันยายน 2567 เวลา 15.00น.)