สรุปแนวทาง“มะเร็งรักษาทุกที่”ย้ำยังใช้หลักเกณฑ์เดิม ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
ประธานคณะทำงานฯ มะเร็งรักษาทุกที่ ย้ำ “รพ. ใช้หลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับเดิมคือของปี 2566-2567” ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่าย พร้อมเผย 15 ก.พ. นี้ เตรียมประชุมสรุปเสนอ สปสช. ยกเลิก “ประกาศหลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้ 1 เม.ย. 68”
ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข กรณีการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Anywhere) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายรักษาโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) หรือ “โครงการมะเร็งรักษาทุกที่” (Cancer Anywhere) มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามแนวทางเวชปฏิบัติ หรือ Clinical Practice Guidelines (CPG) ที่จัดทำโดยราชวิทยาลัยครอบคลุมทุกโรคมะเร็ง และได้รับการรักษาทันเวลา
ออกประกาศย้ำ! เลื่อนบังคับใช้มะเร็งรักษาทุกที่ ฉบับใหม่ ให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อน
สปสช. ยันไม่ปรับหลักเกณฑ์ สิทธิบัตรทอง “มะเร็งรักษาทุกที่” ย้ำไม่ต้องมีใบส่งตัว

โดยมีระบบการส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูล มีระบบการคัดกรองและประสานส่งต่อโดยทีมพยาบาล (nurse management team)
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายข้างต้นนี้ คณะทำงานฯ จะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 15 ก.พ. 2568 เพื่อสรุปประเด็นและแนวทางเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาดำเนินการ คือขอให้ สปสช. ดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ ตามประกาศหลักเกณฑ์ฉบับเดิมของสำนักงานฯ ที่ใช้ในปีงบประมาณ 2566 -2567 และยังใช้กันอยู่ในขณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้หนังสือรับรองสิทธิเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการประจำ หรือใบส่งตัวไม่มีมีความจำเป็น เพราะ สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้ป่วยมะเร็งที่ส่งต่อทุกคนอยู่แล้ว
เมื่อพูดถึงใบส่งตัวมี 2 เรื่องปนกันอยู่ นอกจากใบส่งตัวเพื่อรับรองสิทธิในการรับผิดชอบค่ารักษาของหน่วยบริการประจำแล้ว ยังมีเรื่องใบส่งตัวที่เป็นการส่งข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งและสามารถใช้สิทธิได้ตามโครงการฯ ตรงนี้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้หน่วยบริการประจำแจ้งต่อโรงพยาบาลรับส่งต่อ ส่วนกรณีที่เป็นการส่งต่อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น ระบบของหน่วยบริการและโรงพยาบาลรับส่งต่อยังไม่เป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ทำให้ไม่ใช่ทุกแห่งที่จะสามารถส่งหรือรับข้อมูลผู้ป่วยได้เหมือนกัน ดังนั้นการใช้ใบส่งตัวเพื่อให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นกระดาษจึงยังมีความจำเป็นอยู่ในบางราย แต่ในอนาคตหากมีการพัฒนาที่ครอบคลุมเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ความจำเป็นของการใช้ใบส่งตัวที่เป็นกระดาษก็จะลดลงหรือหมดไป
“มะเร็งรักษาทุกที่ ตามประกาศหลักเกณฑ์ฯ ปี 2566 -2567 หนังสือส่งตัวที่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่โรงพยาบาลรับส่งต่อขอ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการขอใบส่งตัวที่เป็นข้อมูลทางการแพทย์ เพราะตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้วเท่านั้น ดังนั้นในกรณีนี้ ใบส่งตัวเพื่อให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นกระดาษจึงมีความจำเป็นอยู่ในกรณีที่ไม่สามารถส่งและรับข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้” ประธานคณะทำงานฯ กล่าว
สำหรับในส่วนของประกาศฉบับใหม่ฯ ที่ สปสช. ได้ชะลอบังคับใช้ให้มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2568 นั้น ผศ.นพ.สนั่น กล่าวว่า อยากให้ สปสช. ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวเพื่อทำให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่รับส่งต่อมีความชัดเจน เพราะวันนี้ยังอยู่ในช่วงของการผ่อนผัน ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน 2568 จะปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากโรงพยาบาลรับส่งต่อต้องเตรียมหน้างานและต้องแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบก่อน อย่างไรก็ดีทางคณะทำงานฯ จะทำการสรุปประเด็นนี้ให้จบในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ สปสช. นำไปพิจารณาและตัดสินเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งหากกลับไปใช้หลักเกณฑ์ฯ ปี 2566-2567 ที่ สปสช. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ใบส่งตัวในเรื่องค่าใช้จ่ายก็ไม่มีความจำเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้ว
“ขณะนี้โรงพยาบาลรับส่งต่อทุกแห่ง ยังให้บริการผู้ป่วยมะเร็งตามหลักเกณฑ์ของปี 2566-2567 ซึ่งหากยกเลิกประกาศฉบับใหม่ไปในวันที่ 1 เมษายน 2568 นี้ การให้บริการก็เหมือนเดิมไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งต้องบอกว่ากรณีของประกาศหลักเกณฑ์ ปี 2566-2567 วันนี้โรงพยาบาลก็ยังทำงานได้อยู่ เพียงแต่มีบางแห่งมีปัญหาจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องหาวิธีในการแก้ปัญหาต่อไป โดยพัฒนาศักยภาพด้านความสามารถการรักษาโรคมะเร็งให้กับ รพ.สังกัดต่างๆ มาช่วยรองรับเพื่อกระจายผู้ป่วยออกไปไม่ให้เกิดการกระจุกตัว ณ โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งจนเกินศักยภาพด้านปริมาณ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานสังกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” ประธานคณะทำงานฯ กล่าว
ผศ.นพ.สนั่น กล่าวว่า ส่วนประเด็นการรักษาโรคแทรกหรือโรคที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็งนั้น ตามประกาศเดิมปี 2566-2567 สปสช. จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากมีการรักษามะเร็งในครั้งนั้นร่วมด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าที่ควรเป็นนั้น เรื่องนี้คงต้องมาคุยในรายละเอียด ซึ่งปัญหาโรคแทรกมี 2 กรณี คือกรณีที่ส่งไปรักษาที่หน่วยบริการประจำไม่ได้ จะต้องรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ และกรณีที่หน่วยบริการมีศักยภาพดูแลได้ แต่ปัญหาก็คือหน่วยบริการประจำมีศักยภาพบริการไม่เท่ากัน และโรงพยาบาลรับส่งต่อก็ไม่รู้ศักยภาพของหน่วยบริการประจำเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อติดขัด ตรงนี้คงต้องมาดูในรายละเอียดเพิ่มเติม
สรุปได้ว่า ในวันที่ 15 ก.พ. นี้ ทางคณะทำงานฯ จะทำการสรุปประเด็นข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อให้ สปสช. นำไปพิจารณาว่าประเด็นที่เสนอสอดคล้องกับพระราชบัญญัติฯ กฎหมาย ข้อบังคับ มติบอร์ด สปสช. และประกาศหลักเกณฑ์หรือไม่ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้” ประธานคณะทำงานฯ กล่าว
ทั้งนี้ สปสช. รายงานเพิ่มเติมว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้รับทราบข้อเสนอเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว และได้ลงนามคำสั่งยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้ 1 เม.ย. 68 แล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้กลับไปประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับเดิม ปี 2566 -2567