ช่องทางรับบริการ“สถานชีวาภิบาล” บัตรทองดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ภาวะพึ่งพิง
“สมศักดิ์” ห่วงใยผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง แนะช่องทางติดต่อเพื่อเข้ารับบริการ “สถานชีวาภิบาล”ในระบบ สปสช. ครอบคลุมดูแลทุกสิทธิรักษาพยาบาล เผยมีสถานชีวาภิบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการมาตรา 3 แล้วจำนวน 30 แห่ง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “สถานชีวาภิบาล” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่เร่งดำเนินการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)

พร้อมให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่ผ่านมาจึงได้ดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการผู้ป่วยแบบประคับประคองและระยะท้าย ร่วมขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545”
จากที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อาทิ องค์กรศาสนา องค์กรที่ไม่แสวงกำไร ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ (ศพส.) และสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ ได้สมัครขึ้นทะเบียนเป็นสถานชีวาภิบาลกับ สปสช. แล้วเป็นจำนวน 38 แห่ง โดยกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ และได้ให้บริการผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแล้วตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน พ.ศ. 2567
“ผู้มีสิทธิรับบริการในสถานชีวาภิบาลตามประกาศฯ ข้างต้นนี้ คือเป็นประชาชนไทย ไม่จำกัดสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการประเมินระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่าสิบเอ็ดคะแนน หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้รับการประเมินระดับผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Paliative Performance Scale ; PPS) เท่ากับหรือน้อยกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ หรือเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมตามการประเมินระยะของภาวะสมองเสื่อม ทั้งระยะปานกลาง ระยะรุนแรงปานกลาง หรือระยะรุนแรง เป็นต้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ช่องทางในการเข้ารับบริการนั้น ประชาชนสามารถติดต่อผ่าน “สายด่วน สปสช. 1330” หรือสอบถามข้อมูลจาก สปสช. เขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต เพื่อให้ประสานไปยังสถานชีวาภิบาลที่มีความประสงค์เข้ารับบริการ หรือ ติดต่อที่ “สถานชีวาภิบาล” โดยตรงเพื่อเข้ารับบริการ และกรณีที่รักษาตัวในโรงพยาบาล สามารถแจ้งความประสงค์ต่อโรงพยาบาล เพื่อขอเข้ารับบริการที่สถานชีวาภิบาลในพื้นที่ได้
“สถานชีวาภิบาลเป็นบริการที่มุ่งเน้นในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี ไม่เพียงแต่ทางกาย แต่สถานชีวาภิบาลหลายแห่งยังให้เยียวยาในด้านจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่ง สปสช. มีนโยบายที่พร้อมสนับสนุนการจัดบริการ เพื่อเติมเต็มการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ดูรายชื่อสถานชีวาภิบาลที่ร่วมให้บริการ : https://www.nhso.go.th/th/communicate-th/new/2024-10-30-15-39-21/55069-2025-02-25-08-55-18
