โพลชี้ "สูงวัย" กลัวผลข้างเคียง ทำชะงักไม่ฉีดวัคซีน - ไม่ครบโดส
กรมอนามัย เผยผลอนามัยโพล ชี้ สูงวัยกลัวผลข้างเคียง ทำชะงักไม่ฉีดวัคซีน – ฉีดไม่ครบตามเกณฑ์
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยังคงต้องเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยง และความรุนแรงของโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2565 จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (MOPH Immunization Center) ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนเป้าหมาย 12,704,543 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 10,673,379 คน คิดเป็นร้อยละ 84.0
"ผู้สูงอายุ" ป่วยโควิดทำอย่างไร? เช็กอาการ - วิธีปฏิบัติของผู้ดูแล
หยุดทุกความเสี่ยง หัวใจ "สูงวัย" สตรองได้แค่ดูแล
เข็มที่ 2 จำนวน 10,111,943 คน คิดเป็นร้อยละ 79.6 และเข็มที่ 3 จำนวน 5,010,964 คน คิดเป็นร้อยละ 39.4
จากผลการสำรวจอนามัยโพลเรื่อง “พฤติกรรมการป้องกันโรคและความกังวลต่อการฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุ” ระหว่างวันที่ 1 - 21 เมษายน 2565 พบว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบแล้ว ร้อยละ 88.2 แต่ยังคงมีผู้สูงอายุที่ยังไม่แน่ใจที่จะฉีดวัคซีนหรือคิดว่าจะไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีก ร้อยละ 11.8 โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไม่ครบ หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คือ ร้อยละ 37.99 กลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน รองลงมา คือ ร้อยละ 19.44 คิดว่าฉีดวัคซีน 1 - 2 เข็ม ก็เพียงพอแล้ว และร้อยละ 10.51 อยากศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนฉีด
“ทั้งนี้ ขอให้บุตรหลานพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนให้ครบโดส เพื่อป้องกันอาการรุนแรง และเสียชีวิตหากติดเชื้อ ซึ่งจากข้อมูลกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 19 เมษายน 2565 พบว่า การฉีดวัคซีน 3 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 34 – 68 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการเสียชีวิตได้ 98 – 99 เปอร์เซ็นต์ และหากฉีดวัคซีน 4 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 80 – 82 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่พบผู้เสียชีวิต
พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เพื่อป้องกันโควิด-19 ดังนี้
1) ยึดหลัก DMHTT คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และตรวจเชื้อโควิด-19
2) สวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น และบุคคลในครอบครัว
3) หลีกเลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน
4) ส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอ โดยกินอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่มากเกินไป และพักผ่อนให้เพียงพอ