สธ.ลดระดับเตือนภัยโควิดเหลือระดับ 3 เตรียมพร้อมสู่โรคประจำถิ่น
สธ.เห็นชอบให้ลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมในประเทศแนวโน้มลดลงชัดเจน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในไทยว่าช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาไวรัสโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมดแล้ว
โดยเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 สัดส่วน 97.6% สำหรับสายพันธุ์ผสมนั้น ปัจจุบันหน่วยงานฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID ยังไม่ประกาศยืนยันว่า ตัวอย่างที่ไทยส่งไปให้ทดสอบเป็นสายพันธุ์ผสม ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งตัวอย่างต้องสงสัยไปยัง GISAID จำนวน 12 ตัวอย่าง แบ่งเป็น XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่าง และ XE 1 ตัวอย่าง
ย้ำ“สิทธิบัตรทอง” ถือบัตร ปชช.ใบเดียว ไปรับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่
“ChulaCov19” วัคซีนโควิดสัญชาติไทย ผลิตในประเทศได้แล้ว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานของไทยโฟกัสการเฝ้าระวังไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เช่นเดียวกับหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก เนื่องจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มีข้อมูลว่า แม้เคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 แล้ว ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะไม่สามารถป้องกัน 2 สายพันธุ์นี้ได้รวมถึง BA.2 ด้วย เว้นแต่กรณีเคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 และได้รับวัคซีนด้วยจึงจะพอป้องกันได้ โดยในไทยเคยพบผู้ติดเชื้อ BA.5 จำนวน 1 รายเมื่อเดือนเม.ย.2565 เป็นชาวบราซิล ปัจจุบันรักษาหายและเดินทางกลับประเทศแล้ว
ส่วนสายพันธุ์ BA.2.12.1 นั้นปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอ แต่จากตำแหน่งการกลายพันธุ์อาจทำให้สามารถหลบภูมิคุ้นกันได้ดีขึ้น อีกทั้งแนวโน้มการระบาดทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1.2 หมื่นราย ส่วนในไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อ มีเพียงผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2.12 จำนวน 2 ราย เมื่อเดือนเมษายน 2565 เป็นชาวอินเดียและแคนาดา โดยได้อัพเกรดศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศให้สามารถตรวจแยกสายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องส่งตัวอย่างมาที่ส่วนกลาง และโฟกัสการเก็บตัวอย่างจากชาวต่างชาติมากเป็นพิเศษ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณ์โรคโควิด19 ที่มีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน เห็นชอบให้มีการประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมในประเทศแนวโน้มลดลงชัดเจน จึงสามารถลดระดับการเตือนภัยลงได้ รวมถึงทั่วโลกก็มีการลดระดับลงแล้วเช่นกัน
คำแนะนำยังคงให้เลี่ยงเข้าสถานที่เสี่ยง สถานที่ติดสถานที่แออัด กลุ่ม 608 ให้รับวัคซีนโควิค-19 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ให้ทุกจังหวัดทำแผนเตรียมพร้อมการปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น
จากระยะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post-pandemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่น ขณะนี้ภาพรวมประเทศอยู่ใน ระยะที่ 2 คงตัว (Plateau) โดยมี 23 จังหวัดอยู่ในระยะนี้ และอีก 54 จังหวัดอยู่ในระยะที่ 3 ดีขึ้นมีสถานการณ์ที่ลดลง มีแนวโน้มเข้าสู่หลังการระบาดใหญ่หรือการเป็นโรคประจำถิ่นเข้าไปทุกขณะ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่จะพิจารณาการเป็นโรคประจำถิ่น คือ อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการให้เป็นจังหวัดนำร่อง ก็จะต้องย้ำว่านอกจากการดูที่สถานการณ์แล้วจะต้องดูที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพราะถ้าหากอนาคตไวรัสมีการกลายพันธุ์และมีความรุนแรงขึ้นอีก การฉีดวัคซีนจะช่วยได้อย่างมาก
ทั้งนี้ 23 จังหวัดที่อยู่ในระยะคงตัว ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร ที่เหลืออีก 54 จังหวัดอยู่ระยะลดลง
สำหรับจุดหมายสำคัญคือการเปิดโรงเรียนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะนี้ได้มีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี โดยแนะนำสามารถที่จะรับวัคซีนเข็มกระตุ้นขนาดครึ่งโดสได้ ขณะที่บุคลากรทางการศึกษาข้อมูลล่าสุด มีการฉีดวัคซีนโควิดครบตามเกณฑ์แล้วกว่าร้อยละ 90 แล้ว ส่วนเด็กประถม 5-11 ปี ที่มีจุดหมาย 5.1 ล้านคน เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว แล้ว 2.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 54.5 เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 17.4