วิธีกำจัดขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง ช่วยลดการกระจายโควิด-19 และรักษาสิ่งแวดล้อม
ผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางจัดการและกำจัดขยะติดเชื้อ เช่น หน้าอนามัย ชุดตรวจ ATK เพื่อลดการกระจายของโควิด-19 และรักษาสิ่งแวดล้อม
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา อุปกรณ์หรือจะเรียกว่าเป็นอาวุธที่ต้องมีติดตัวกันทุกคนทุกครัวเรือน คงหนีไม่พ้นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ชุดตรวจหาเชื้อ ATK ซึ่งสำหรับประเทศไทยเอง นับว่ารณรงค์การป้องกันโควิด-19 ด้วยอุปกรณ์เหล่านี้เป็นผลสำเร็จ สะท้อนผ่านภาพที่เราพบเห็นเมื่อเดินทางออกไปนอกบ้าน ก็จะเห็นผู้คนส่วนใหญ่สวมหน้ากาก และฉีดเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลจาก CDC หน้ากากอนามัยแต่ละชนิด ลดโอกาสติดโควิด-19 ได้เท่าไร
เราสามารถใส่หน้ากาก N95 ซ้ำได้นานแค่ไหน?
สวมหน้ากากอนามัยแบบไหน ปลอดภัยจากโควิด-19 “โอมิครอน”
ใส่หน้ากาก-ตรวจ ATK เป็นเรื่องดี แต่ต้องกำจัดให้ถูกวิธี
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ แม้จะช่วยลดโอกาสติดโควิด-19 ได้ แต่ก็สร้างผลเสีย นั่นคือก่อให้เกิดขยะติดเชื้อหรือขยะทางการแพทย์จำนวนมาก ซึ่งหากจัดการไม่ถูกวิธี ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อยู่ดี
ในประเทศไทย เฉพาะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable Mask) แต่ละวันคาดว่ากลายเป็นขยะราว 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวัน
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยที่ชี้ว่า เชื้อโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีนที่เป็นส่วนประกอบของหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งได้นานถึง 7 วัน
“เราไม่รู้ว่าสารคัดหลั่งที่ติดบนหน้ากากมีเชื้อโควิด-19 ติดมาหรือไม่ ทำให้เราต้องประเมินไว้ก่อนว่าหน้ากากอนามัยที่ผ่านการใช้แล้วเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดที่เหมาะสม เพราะถ้าทำไม่ถูกต้อง นอกจากจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคแล้ว ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งมีการคาดการณ์เมื่อปี 2563 ว่ามีหน้ากากอนามัยใช้แล้วเกือบ 1.6 พันล้านชิ้นถูกทิ้งลงในมหาสมุทร” ศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าว
แก้ปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อด้วยหลัก 5C 1S
ศ.ดร.พิสุทธิ์ ได้เสนอหลัก “5C 1S” ที่ทุกฝ่ายสามารถนำไปปฏิบัติได้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างครบวงจร
Conserve รู้ใช้หน้ากาก
หมายถึงการเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบที่สามารถใช้ซ้ำได้ อย่างเช่นหน้ากากอนามัยที่ทำด้วยผ้า และการลดการเดินทางออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อลดการเกิดขยะติดเชื้ออย่างขยะหน้ากากอนามัยได้
“มีผลวิจัยที่บอกว่าการใส่หน้ากากอนามัยสองชั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ แต่การใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งทั้งสองชั้น นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังก่อให้เกิดขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น” ศ.ดร.พิสุทธิ์บอก
เขากล่าวถึงคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ในเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยสองชั้นว่า “ให้เอาหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งอยู่ข้างใน แล้วสวมทับด้วยหน้ากากผ้าที่มีความกระชับแนบกับใบหน้าอยู่ด้านนอก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงถึง 80%”
Share ใส่ใจสังคม
คือการคิดถึงคนอื่น ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วให้ถูกต้อง “ควรพับหน้ากากที่ใช้แล้วก่อนทิ้งเสมอเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่น”
ศ.ดร.พิสุทธิ์ ยกตัวอย่างการแชร์ข้อมูลในโลกโซเซียลที่แนะให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในขวดน้ำดื่มพลาสติก หรือขวด PET
“เรื่องนี้ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ประการแรก ขวดพลาสติก PET รีไซเคิลได้ แต่เมื่อนำมาใส่ขยะติดเชื้อก็จะทำให้ขวดพลาสติกนั้นกลายเป็นขยะติดเชื้อไปด้วย ต้องถูกกำจัดแบบขยะติดเชื้อและไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้
“ประการที่สอง เมื่อต้องกำจัดขยะขวดพลาสติกติดเชื้อ ก็ต้องกำจัดด้วยการเผา และการเผาขวดพลาสติกก็เท่ากับสร้างมลพิษเพิ่มมากขึ้น ประการสุดท้าย ขวดพลาสติกมีราคา ผู้คัดแยกขยะที่อยากขายขวดก็ต้องเอาหน้ากากอนามัยใช้แล้วออกจากขวดก่อน ซึ่งเป็นการกระจายเชื้อโควิด-19 ได้”
Contain แยกและเก็บขยะติดเชื้อให้มิดชิด
วิธีการจัดการขยะติดเชื้อ อย่างหน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK ที่ใช้กันตามบ้านจะต้องคัดแยกออกจากขยะมูลฝอยประเภทอื่นๆ อย่างเด็ดขาด ศ.ดร.พิสุทธิ์ เน้น
“การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วลงไปกับขยะทั่วไปจะทำให้ขยะทั่วไปกลายเป็นขยะติดเชื้อไปด้วยทั้งหมด เป็นการเพิ่มปริมาณขยะติดเชื้อให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องกำจัดโดยวิธีกำจัดขยะติดเชื้อแทนการกำจัดขยะแบบปกติ”
ศ.ดร.พิสุทธิ์ แนะการแยกและทิ้งชุดตรวจ ATK เป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ไม่เป็นขยะติดเชื้อ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ชุดตรวจ เช่น กล่องกระดาษใส่ชุดตรวจ หลอดน้ำยาที่บรรจุน้ำยาชุดตรวจ ซึ่งสามารถกำจัดได้เหมือนขยะมูลฝอยทั่วไป และส่วนใหญ่จะเป็นขยะรีไซเคิล
ส่วนที่เป็นขยะติดเชื้อ ได้แก่ ไม้สำลีปั่น หลอดผสมน้ำยา และแถบวัดผล ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้เมื่อใช้แล้วต้องจัดการทิ้งให้ถูกต้องคือเอาไม้สำลี หลอดผสมน้ำยา แถบวัด ใส่ถุงพลาสติกแล้วเขียนหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ” ก่อนนำไปทิ้งในถังสีแดง ที่มีสัญลักษณ์ขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ
ศ.ดร.พิสุทธิ์ แนะว่าควรทิ้งขยะติดเชื้อในบรรจุภัณฑ์ที่ระบุชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ เช่น ถุงแดงที่เป็นถุงขยะสำหรับขยะติดเชื้อโดยเฉพาะเพื่อให้ขยะติดเชื้อเข้าสู่ขบวนการจัดการได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
Convey ส่งขยะติดเชื้อไปกำจัด
นอกจากนี้ รถขนส่งขยะติดเชื้อ (Convey) ก็ต้องมีการออกแบบเป็นพิเศษโดยมีคุณสมบัติ อาทิ
- ตัวถังรถปิดทึบ ผนังบุด้วยวัสดุทนทาน ทำความสะอาดง่าย
- มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายกับผู้ขับขี่และผู้ปฏิบัติงานประจำยานพาหนะมูลฝอยติดเชื้อ
- ทำความสะอาดรถขนขยะติดเชื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- ติดข้อความสีแดงที่สามารถมองเห็นชัดเจนที่ภายนอกตัวถังว่า “เฉพาะขนมูลฝอยติดเชื้อ”
“สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนการขนขยะติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้องและจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าว
Combustion เผาขยะติดเชื้อโรคอย่างปลอดมลพิษ
ศ.ดร.พิสุทธิ์ บอกว่า วิธีการกำจัดขยะติดเชื้อที่ดีที่สุดคือการเผา ซึ่งต่างจากการเผาขยะอื่น ๆ ทั่วไป
โดยขยะติดเชื้อต้องผ่านการเผา 2 ขั้นตอนด้วยกัน เริ่มที่เตาเผาแรกที่อุณหภูมิอย่างน้อย 760 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วต่อด้วยเตาเผาที่สองเพื่อกำจัดมลพิษที่เกิดจากเตาเผาแรก
“การเผาไหม้ขยะที่อุณหภูมิสูงจะก่อให้เกิดมลพิษเสมอ เราจึงต้องใช้เตาเผาที่สองที่อุณหภูมิสูงถึง 1000 องศาเซลเซียสเพื่อเผาก๊าซพิษที่หลงเหลืออยู่ หลังจากเผาขยะติดเชื้อ อากาศที่หลงเหลืออยู่ในเตาเผาสุดท้ายต้องต่อเข้ากับระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ เพื่อให้อากาศที่จะปล่อยออกมาสะอาด ปลอดมลพิษ” ศ.ดร.พิสุทธิ์ เล่าถึงกรรมวิธีในการกำจัดขยะติดเชื้อ
นอกจากนี้ การจัดการขยะติดเชื้ออย่างครบวงจรยังมีเรื่องการกำจัดเถ้าหนัก เถ้าลอย ที่เกิดจากการเผาไหม้ทั้งสองเตาเผา โดยเถ้าหนักก็ใช้วิธีกลบฝัง ส่วนเถ้าลอยก็ไปใช้ทำเป็นอิฐมวลเบา
Complete ขั้นตอนที่สมบูรณ์แบบ
ศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าวว่า หากสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งหมดข้างต้นได้ ก็จะกลายเป็น กระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อที่มีขั้นตอนที่สมบูรณ์แบบโดยที่ไม่มีการปล่อยมลพิษหรือของเสียออกมาสู่โลกของเรา”
ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวย้ำว่าทุกฝ่ายล้วนมีส่วนช่วยลดปัญหาขยะติดเชื้อได้ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งคือพวกเราทุกคนที่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย เลือกใช้หน้ากากที่ใช้ซ้ำได้ แยกขยะติดเชื้อและทิ้งให้ถูกวิธี จากนั้นการจัดการที่เหลือก็เป็นส่วนที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทำให้เหมาะสมและครบวงจร