จากกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง กรณีมีหลักฐานปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 วรรคสี่
โดย กกต. มติเห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธา มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
เราจะมาย้อนดูไทม์ไลน์คดีดังกล่าวว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ระหว่างนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
10 พฤษภาคม - นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบ กรณีเชื่อได้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
19 พฤษภาคม - นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นเรื่องร้องเรียนกรณีหุ้น ITV ของนายพิธาเช่นเดียวกัน
29 พฤษภาคม - กกต. เชิญ 3 ผู้ร้องให้ตรวจสอบกรณีหุ้น ITV มายืนยันคำร้องและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ประกอบด้วย นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นายสนธิญา สวัสดี และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล
6 มิถุนายน – นายพิธา แสดงความมั่นใจในหลักฐานของตัวเอง และยังมั่นใจว่ากรณีดังกล่าวจะไม่กระทบกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล พร้อมกันนั้นได้โอนหุ้นให้ทายาทคนอื่น เนื่องจากเห็นว่ามีขบวนการพยายามที่จะฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานตนเอง
6 มิถุนายน – ที่ประชุม กกต. เริ่มพิจารณากรณีสำนักงานกกต.รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องขอให้ตรวจสอบว่านายพิธา มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)และมาตรา42(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เนื่องจากถือหุ้น itv หรือไม่
8 มิถุนายน - คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหุ้น ITV ของนายพิธา คู่ขนานกับการตรวจสอบของ กกต.
9 มิถุนายน – ที่ประชุม กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้องขอให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการยื่นเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครแต่ยังฝืน พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนขึ้นมาดำเนินการ (เริ่มนับวันที่ 1 ตามกระบวนการ)
11 มิถุนายน – มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ITV ประจำปี 2566 บริษัทไอทีวี จำกัด(มหาชน) โดยมีผู้ถือหุ้นถามว่า "บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อ หรือไม่" ซึ่งประธานในที่ประชุม ให้ตอบว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" ซึ่งถือว่าย้อนแย้งเอกสารการประชุมที่ระบุชัดทำสื่อตามวัตถุประสงค์ของบริษัท
14 มิถุนายน – เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยืนยันว่านายพิธา ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 พร้อมแนบคำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดกหุ้นไอทีวีจริง พร้อมให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ กกต. หากทาง กกต.มีการร้องขอ
14 มิถุนายน – ทนายรัชพล ศิริสาคร ยื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อคัดค้านการดำเนินการสอบนายพิธา เนื่องจากพบข้อขัดแย้งในตัวเอกสารที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นำมายื่นร้องตั้งแต่ต้น พร้อมขอให้ กกต.แจ้งความเอาผิดนายเรืองไกร ฐานร้องเรียนมั่ว
28 มิถุนายน – นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าหารือร่วมกับ กกต. พร้อมส่งข้อมูลจากการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหุ้น ITV ของนายพิธา ให้แก่ กกต.ใช้ประกอบการพิจารณา
9 กรกฎาคม – คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กกต. กรณีนายพิธา ถือครองหุ้นไอทีวี ได้สรุปข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
10 กรกฎาคม – พรรคก้าวไกล ได้ส่งหนังสือด่วนไปยัง สำนักงาน กกต. เพื่อคัดค้านการที่ กกต.จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ้นสื่อหรือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบ กกต. ระบุไว้เอง และเห็นว่ามีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ
11-12 กรกฎาคม – ที่ประชุม กกต. พิจารณารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง กรณีนายพิธา ถือครองหุ้นไอทีวี อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่หรือไม่ โดยพิจารณาติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน
12 กรกฎาคม – ที่ประชุม กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของนายพิธา มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
17 กรกฎาคม – เอกสารนัดประชุมศาลรัฐธรรมนูญหลุด แจ้งวาระการประชุมพิจารณา เรื่อง กกต.ขอให้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยนัดหมายในวันที่ 19 กรกฎาคม
19 กรกฎาคม – ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย