9 มิ.ย. 67 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าวสรุปภาพรวมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับอำเภอ ทั่วประเทศ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นายแสวง กล่าวว่า การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ จัดขึ้นทั้งหมด 928 จุดเลือกตั้ง มีผู้สมัครประมาณ 46,000 คน เสร็จสิ้นประมาณ 15.00 น. โดยภาพรวมถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ปัญหาผู้สมัครมารายงานไม่ทันตามกำหนดเวลา 09.00 น. จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มากนัก
รวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น ที่ จ.นนทบุรี มีผู้นำหูฟัง ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามายังจุดเลือก แม้ไม่ใช่สมาร์ตโฟนก็หมดสิทธิ์ หรือที่ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี มีผู้สมัครซึ่งอยู่ระหว่างการลงคะแนนเจ็บป่วยกะทันหัน ทาง กกต. ก็แจ้งว่าหากออกไปข้างนอกจะเสียสิทธิ์ ก็เข้าใจ
บางแห่งรายงานว่า ใน กทม. ไม่มีจุดสังเกตการณ์ นายแสวง กล่าวว่า หน่วยเลือกบางแห่งไม่สะดวกในการตั้งจุดสังเกตการณ์ ก็ได้จัดให้มีห้องแอร์ห้องรับรองไว้สำหรับผู้สังเกตการณ์โดยเฉพาะ
นายแสวง กล่าวถึงขั้นตอนการเลือกว่า เมื่อแต่ละหน่วยอำเภอเลือกเสร็จแล้ว ผู้อำนวยการระดับอำเภอ จะปิดประกาศผลการเลือกหน้าสถานที่เลือก โดยผู้ที่ได้รับเลือกสูงสุด 3 ลำดับ ก็จะได้รับเลือกในระดับจังหวัดต่อไป
และในวันที่ 10 มิ.ย. ผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับอำเภอ จะส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือก ให้กับผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัด และปิดประกาศ พร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และแอปพลิเคชัน Smart Vote ให้ทราบต่อไป และภายใน 3 วัน ผู้อำนวยการระดับจังหวัด จะดำเนินการจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครส่งให้แต่ละกลุ่ม เพื่อให้พิจารณาเลือกระดับจังหวัดต่อไป
ส่วนกระบวนการเลือก สว.ระดับจังหวัด จะเหมือนกันกับการเลือก สว.ระดับอำเภอ แต่จะไม่ลำบากเท่าในระดับอำเภอ ในระดับอำเภอมีบางจุดที่มีผู้สมัครขาดบ้าง มีเพียง 1 - 2 กลุ่ม แต่พอมาเลือกในระดับจังหวัดแล้ว จะมีผู้สมัครครบ 20 กลุ่ม จะเลือกได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น
นายแสวง กล่าวถึงการร้องคัดค้านว่า กรณีที่ผู้สมัครเห็นว่าการดำเนินการเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ร้องคัดค้านที่ศาลฎีกา ภายใน 3 วัน นับแต่บัดนี้ โดยกลุ่มของการร้องคัดค้าน แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นแรก คือเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ชั้นที่สองคือ ผู้สมัครเห็นว่ามีการดำเนินการเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ไปร้องศาลฎีกา ส่วนชั้นที่สามคือ เรื่องการทุจริต ให้มาร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาโดยเร็ว
กรณีเรื่องการเลือกในลักษณะเลือกกันเอง ที่เขตปทุมวัน นายแสวง กล่าวว่า การเลือกกันเองเป็นประเด็นในคำร้องชั้นที่ 2 ต้องกล่าวก่อนว่า สามารถเลือกกันเองได้ เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในผู้สมัคร ก็มีสิทธิ์ถูกคนอื่นเลือก เลือกคนอื่นได้ หรือเลือกตัวเองก็ได้เช่นกัน ถ้าเห็นว่าคนอื่นดีกว่าในกลุ่มนั้น ๆ ซึ่งการเลือกลักษณะดังกล่าว สามารถนำไปตั้งเป็นข้อสังเกตในการพิจารณาหาข้อเท็จจริงได้
กรณีการตรวจสอบ นายแสวง กล่าวว่า กกต. มีกระบวนการตรวจสอบสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ การตรวจสอบทางลับ ถ้าเห็นว้ามีมูลก็จะเป็นการตรวจสอบโดยปรากฏต่อไป ต้องดูตามกฎหมาย ว่าเขียนว่าอย่างไร มีข้อเท็จจริงอย่างไร แล้วการกระทำที่ถูกร้องเรียนเข้าข่ายความผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ต้องรอดูต่อไป
นายแสวง เผยว่า ขณะนี้มีคำร้องทั้งหมดประมาณ 22 คำร้อง รวมกับที่ปรากฏในสื่อด้วย การที่ กกต. จะสามารถตรวจสอบได้ หนึ่งคือศักยภาพในการตรวจสอบ สองคือมีข้อเท็จจริงที่จะต้องให้ตรวจสอบหรือไม่ การทำงานของ กกต. เป็นลักษณะสืบสวนสอบสวน ต้องมีความรอบคอบ
กรณีในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีผู้สมัครยอมรับว่าได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาเลือกจริง นายแสวง กล่าวว่า ในระเบียบของการสืบสวน ต้องให้คณะกรรมการสืบสวนดำเนินการ และต้องสืบในลักษณะที่ว่ามีคนจ้าง ไม่ใช่ว่าเขารับแล้วผิดคนเดียว ต้องตรวจสอบหาให้ได้ว่าใครเป็นคนจ้าง
ส่วนกรณีการตั้งเงินรางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท หากพบการทุจริต นายแสวง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับเงินรางวัล อาจจะไม่ได้ทั้งหมด 1 ล้านบาท จะได้รับก็ต่อเมื่อคดีไปถึงศาล และศาลตัดสินว่าผิด ขณะนี้มีเพียงคำร้องเท่านั้น ซึ่งหากคำร้องเหล่านั้นถูกพิจารณาว่าผิดจริง ถึงจะได้รับเงินต่อไป
นายแสวง ทิ้งท้ายว่า กลุ่มที่ตื่นตัวในการเลือก สว. มากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อต้องการให้การเมืองเราดีขึ้น เช่น กลุ่ม iLaw ที่ทำงานร่วมกับ กกต. มานานพอสมควร รวมถึงกลุ่มประชาชนหรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ ก็เข้ามากันเยอะพอสมควรเช่นกัน
ตนคิดว่าความตื่นตัวของประชาชนมีน้อย อาจจะมาเพราะการออกแบบตามกฎหมายที่ระบุว่าให้ประชาชนที่มาสมัคร สามารถสังเกตการณ์ได้เท่านั้น ทำให้ประชาชนอาจไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร