จากกรณีศาลรัฐธรรมนุญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในตุลาการที่มีมติเห็น ชอบในการยุบพรรคคือ นายอุดม รัฐอมฤต ซึ่งนอกจากเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีส่วนในการวินิจฉัยกรณียุบพรรคก้าวไกลแล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย
ล่าสุดกลายเป็นประเด็นที่สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังคณบดีคณะนิติศาสตร์ เพื่อพิจารณาให้ถอดถอน นายอุดม รัฐอมฤต ออกจากการเป็นอาจารย์พิเศษ
โดยมีเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 7 ส.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธธรรมนูญที่ 10/2567 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการสั่งยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมี นายอุดม รัฐอมฤต เป็นหนึ่งในองค์คณะตุลาการศาลรัฐรรมนูญซึ่งมีมติเอกฉันท์ในคำวินิจฉัยข้างต้น
“เศรษฐา” ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยขาดคุณสมบัติพ้นนายกฯ - ครม.หลุดทั้งคณะ
ไทม์ไลน์คดีถอดถอน “เศรษฐา” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง!
ผัก-ผลไม้จีน ทะลักตลาดสดโคราช ถูกกว่าไทยเท่าตัว-เกษตรกรไทยกระทบเต็มๆ
เมื่อพิจารณาถึงคำวินิจฉัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีแนวคำวินิจฉัยอันเป็นการหักล้างข้อโต้แย้งประการสำคัญของผู้ถูกร้องอย่างสิ้นเชิง อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญของ กกต.เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าตามข้อเท็จจริงการที่ กกต.ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานเพื่อแก้ต่างข้อกล่าวหาจะเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 93 ประกอบมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ก็ตาม
รวมถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งมีเนื้อหาว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำดังกล่าวจึงเข้าลักษณะอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองฯ
ซึ่งคำวินิจฉัยและแนวทางการให้เหตุทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มิใช่ส่งผลโดยตรงต่อพรรคก้าวไกลและคณะกรรมการบริหารพรรคเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลอันตรายอย่างร้ายแรงต่อบรรทัดฐานการใช้และตีความกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ เกิดเป็นสภาวะขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนที่มิได้มีต่อศาลรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบไปถึงกระบวนการยุติธรรม และอาจลุกลามร้ายแรงไปจนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ อันเป็นผลจากการตีความกฎหมายและจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาต่อมาถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ นายอุดม รัฐอมฤต ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักตามมาตรา 3 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กล่าวคือต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม แต่จากคำวินิจฉัยในครั้งนี้ แม้แต่เพียงการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามหลักการที่สอนแก่นักศึกษา การยึดหลักนิติวิธีและหลักนิติธรรมซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของนักกฎหมาย ก็ยังไม่ปรากฏสู่สายตาของนักศึกษาและประชาชน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่อาจเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักศึกษาได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่า ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผู้เป็นอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนกลับกลายเป็นผู้กระทำสิ่งที่น่าละอายเช่นนี้เสียเอง
ในการนี้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะองค์กรผู้แทนนักศึกษา รวมถึงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิจารณาถอดถอน นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์พิเศษ และไม่มีการเชิญกลับมาสอนในฐานะอาจารย์พิเศษอีกเป็นอันขาด รวมถึงไม่ให้คุณค่าและความสำคัญในคุณูปการใด ๆ ของนายอุดม รัฐอมฤต ในฐานะนักกฎหมายมหาชนอีกต่อไป