นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย ได้โพสต์ข้อความมีเนื้อหาว่า นายณัฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เตรียมจะยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีและรองอธิบดีกรมที่ดิน ผู้บริหารการรถไฟและกรรมการตรวจสอบที่ดินเขากระโดง กรณี ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลสูงสุดแล้วให้นักการเมืองมีชื่อในเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินการรถไฟที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่นักการเมืองเขากระโดง
เหตุที่ต้องฟ้องคดีเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนก็เพราะว่าการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบไต่สวนระดับนักการเมืองนั้น ต้องใช้เวลานาน ขณะนี้ประชาชนจิตใจ บอบช้ำแตกสลาย รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น นายณฐพร จึงจะเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตก่อน ซึ่งจะดำเนินการได้รวดเร็วกว่าเพราะสามารถยื่นฟ้องได้ทันที
ขณะที่ เมื่อวานกรมที่ดิน ได้เผยแพร่คำชี้แจง 5 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกรณีที่ดินเขากระโดง มีเนื้อหายืนยันว่าได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ถูกต้องตาม ม.61 แห่ง ป.ที่ดิน ยันไม่ขัดแย้งคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ แจ้งการรถไฟฯ เร่งพิสูจน์สิทธิในที่ดิน
โดยระบุ ประเด็นการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนและกรมที่ดินขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาฎีกาและศาลอุทธรณ์หรือไม่
โดยบอกว่า ประเด็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ เป็นกรณีพิพาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชน ซึ่งกรมที่ดินไม่มีโอกาสได้เข้าไปเป็นคู่ความต่อสู้ในคดี และนำเสนอพยานหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีไปแสดงต่อศาลได้ สำหรับรูปแผนที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) อ้างสิทธิ นั้น
จากการตรวจสอบพบว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 และปีพ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินไปแล้ว โดยการรถไฟฯ ได้นำแผนที่นี้ไปใช้ประกอบการต่อสู้ในคดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
ซึ่งแผนที่นี้ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯแต่อย่างใด ประกอบกับการดำเนินการคณะกรรมการสอบสวนฯ และกรมที่ดิน เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 บัญญัติไว้ จึงเห็นว่ามิได้ขัดหรือแย้งกับคำพิพากษาของศาลแต่ประการใด