ในขณะที่ฝ่ายค้านล็อกเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่กลับปรากฎว่ามีเอกสารหลุดออกมา ว่า 44 อดีต สส.พรรคก้าวไกล ที่เคยลงชื่อเสนอแก้ไข มาตรา 112 และมีคดีในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีอย่างน้อย 12 คน อยู่ในกลุ่มเสี่ยงถูกล็อกเป้าตัดสิทธิทางการเมือง
โดยแหล่งข่าว เปิดเผยกับ ทีมข่าวของเราว่า ขณะนี้ 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่เคยลงชื่อเสนอแก้ไข มาตรา 112 และ ป.ป.ช.ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ทางป.ป.ช.มีการแบ่งกลุ่มสส.เหล่านี้ไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีพฤติการณ์พิเศษ และสมัครรับเลือกตั้ง ปี2566 ( หาเสียงฯ ประกันตัวฯ ดูแนว ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พฤติการณ์ใดที่ศาลเห็นว่า เข้าข่าย มาตรา 112 และลงชื่อแก้ มาตรา 112) กลุ่มนี้ มี 12 คน และล้วนเป็น สส.ตัวตึง เช่น
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
นายรังสิมนต์ โรม
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
นางสาวศริกัญญา ตันสกุล เป็นต้น
แหล่งข่าวบอกว่า กลุ่มนี้ถูกล็อกเป้าว่าจะโดนตัดสิทธิทางการเมืองแน่ๆ
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีพฤติการณ์พิเศษ แต่ไม่สมัครรับเลือกตั้ง มี 2 คน คือ
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา
ซึ่ง 2 คนนี้ก็จะโดนตัดสิทธิทางการเมืองเช่นกัน
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ไม่มีพฤติการณ์พิเศษ และรับสมัครเลือกตั้ง ปี 2566 (กลุ่มที่ลงชื่อแก้มาตรา 112) กลุ่มนี้ใหญ่สุด มีทั้งหมด 23 คน อาทิ
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์
นายวาโย อัศวรุ่งเรือง
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 กลุ่มไม่มีพฤติการณ์พิเศษ และไม่ได้สมัครรับ เลือกตั้ง มี 7 คน หนึ่งในนั้นก็มี พลตํารวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวบอกว่ากลุ่ม 3 และกลุ่ม 4 ที่ไม่มีพฤติการณ์พิเศษ จะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง
ด้านรศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า กล่าวถึงกรณีมีรายชื่อของ 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล หลุดออกมาลักษณะเหมือนมีการจัดเป็นกลุ่มล็อกเป้าว่า เหมือนเป็นการส่อแววว่า อาจจะใช้แนวทางปฏิบัติในการวินิจฉัยไม่เหมือนกัน
โดยเฉพาะกลุ่มแรกที่มีการแบ่งไว้ว่า มีการหาเสียงแก้ไขม.112 มีการประกันตัวผู้ต้องห่าในคดี 112 แยกมาเป็นพิเศษ สะท้อนให้เห็นว่า มีเป้าหมาย และใช้ประเด็นนี้เป็นข้ออ้างในการวินิจฉัยว่า คนกลุ่มนี้อาจจะถูกชี้มูลว่า
มีความผิดจริยธรรมและส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่ได้ระบุว่า ไม่มีพฤติการณ์พิเศษ อาจจะวินิจฉัยว่า ไม่มีมูล
รศ.พิชาย ระบุว่า หากดูตามพฤติการณ์นั้น เช่น การหาเสียงแก้ไขม.112 นั้น ตามหลักการนโยบายหาเสียงก็ต้องผ่านกกต.ก่อน ส่วนการประกันตัวผู้ต้องหาในคดี เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่สส.สามารถใช้ตำแหน่งในการประกันตัวได้ แต่การประกันตัวก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ใช้ตำแหน่งประกันจะเห็นด้วยกับผู้ต้องหา จึงดูเหมือนว่า เป็นการเล่นเกมที่กำหนดผลลัพธ์ เหลือเพียงแค่หาเหตุผลมาประกอบ
รศ.พิชาย ยังชี้ช่องทางรอดของ 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลว่า ต้องอธิบายให้กับป.ป.ช.ทราบว่า สิ่งที่ทำนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับจริยธรรม และชี้ให้เห็นว่า การแก้ม.112 ก็ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยั่งยืน เช่นต่างประเทศ ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กฎหมายอาจไม่รุนแรงเท่าประเทศไทย และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยืนอยู่ได้อย่างสง่างาม ทั้งนี้หากใช้การแก้ไขม.112 แล้วตีตราว่า ไม่จงรักภักดี และมากดทับ แทนที่อาจจะเกิดผลดี อาจจะเกิดผลเสีย เพราะฉะนั้นความจงรักภักดี คือ การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ได้อย่างยั่งยืนยาวนาน ซึ่งต้องหาเหตุผลเข้ามาชี้แจงว่า มีความจงรักภักดี แต่วิธีการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอาจจะต่างกัน