หนึ่งในกุญแจสำคัญของการปราบปรามทุจริตในภาครัฐ ก็คือพยานหลักฐาน แต่กว่าจะได้มาซึ่งพยานหลักฐานไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความสามารถในการสืบหาข้อมูล เอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง เพื่อให้ได้หลักฐานมามัดตัวคนทำผิด และคนที่ทำหน้าที่นี้ก็คือ “นักสืบ” แต่นักสืบที่ว่าไม่ใช่นักสืบทั่วไปเป็น “นักสืบสวนคดีทุจริต” อยู่ภายใต้สำนักงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ทีมข่าวพีพีทีวีมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับนักสืบสวนคดีทุจริตท่านหนึ่ง เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ซึ่งถ้าไม่บอกว่าเป็นนักสืบก็คงไม่ใครเชื่อ เพราะภาพจำของนักสืบที่คนทั่วไปเข้าใจอาจจะเป็นผู้ชายร่างกายแข็งแรง ซึ่งผิดกับเธอคนนี้อย่างสิ้นเชิง
นส.เกศรินทร์ (นามสมมติ) อายุ 27 ปี เป็นนักสืบสาวไฟแรงที่กำลังสนุกกับงานใหม่ที่ท้ายทายมากขึ้น หลังจากย้ายมาทำตำแหน่ง “นักสืบสวนคดีทุจริต” ได้ 1 ปีกว่า เธอบอกว่างานนักสืบเป็นงานที่ต้องมีใจรัก เพราะต้องลุยไปทุกพื้นที่ บางครั้งต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน หรือ อยู่ในที่ที่เดียวตลอดเวลา 7-8 ชั่วโมง ต้องใช้ทั้งความอดทน และต่อสู้กับความคิดของตัวเองว่าจะจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ได้อย่างไร
“การเป็นผู้หญิง” ไม่ใช่ปัญหาของการเป็นนักสืบ ?
เธอตอบคำถามนี้ด้วยความมั่นใจ และอธิบายข้อดีของนักสืบหญิงว่าในบางครั้งเพราะความเป็นผู้หญิงถึงเอาตัวรอดมาจากสถานการณ์เสี่ยง ๆ เนื่องจากความเป็นผู้หญิงมีทั้งลูกอ้อนลูกชน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับงานแต่ละแบบว่าเหมาะกับใคร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย นักสืบก็จะมีหลักการทำงานเดียวกันคือต้องรอบรู้ รอบคอบ และเอาตัวรอดได้
“สืบสวนคดีทุจริต” นักสืบต้องทำอะไรบ้าง ?
อย่างแรกที่นักสืบจะต้องทำก็คือการหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง และรู้จักพื้นที่นั้นให้ดีก่อนที่จะลงพื้นที่จริงไปอำพรางตัว ก่อนจะมีการลงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อไปอำพรางตัว จะต้องรู้จักพื้นที่นั้นให้ดีก่อน ข้อมูลต้องละเอียด เช่น พื้นที่นั้นเป็นของใคร ชาวบ้านประกอบอาชีพอะไร ใครมีชื่อเสียงในพื้นที่ เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใคร จะได้มีทางหนีทีไล่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจถูกจับได้
ส่วนการอำพรางตัวก็ไม่ต้องถึงขั้นปลอมตัวเหมือนในหนัง เพียงแค่อำพรางสถานะ เข้าไปปะปนอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ให้คนรู้ว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ก็เพียงพอแล้ว เพราะการปลอมตัวจะยิ่งทำให้ที่สะดุดตามากกว่า ดังนั้นนอกจากรู้จักพื้นที่ให้ดีแล้ว จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะไปทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เพื่อออกแบบการทำงานให้รอบคอบและรัดกุมมากที่สุด
“Team work make a dream work” ไม่ควรตัดสินใจคนเดียว ?
การทำงานเป็นทีมสำคัญมากสำหรับนักสืบ ในสถานการณ์ที่อาจถูกจับได้ ผู้ที่เป็นนักสืบจะต้องรีบแจ้งทีมที่ไปด้วยกันให้ทราบเพื่อถอนกำลังทันที แม้ว่าอีกนิดเดียวจะสามารถจับคนทุจริตได้ แต่นั่นคือความเสี่ยงอันใหญ่หลวง หากดันทุรังอยู่ต่อแล้วถูกจับได้ สิ่งที่ทำมาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล หรือแฝงตัวเข้าไปเฝ้าติดตามเป็นเวลาหลายเดือน จะพังลงในชั่วพริบตา ดังนั้นทุกขั้นตอนจะต้องมีการรายงานให้ทีมงานทราบอยู่ตลอด เพื่อช่วยกันประเมินสถานการณ์และตัดสินใจว่าจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร
คดีไหนที่ประทับใจที่สุด ?
“เอาเป็นคดีที่จำได้ก็แล้วกันนะคะ เป็นคดีที่ใกล้ขาดอายุความ เหลือเวลาอยู่อีกประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วเป็นคดีที่ต้องไปติดตามตัว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือต้องหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ต้องรู้จักตัวตนเขาก่อน ว่าเขาเป็นใคร ชอบไปไหน ทำอะไร แล้วถึงจะลงพื้นที่ไปติดตามตัว ที่ประทับใจเพราะว่าใช้เวลาเพียงวันเดียว ก็สามารถจับตัวได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าทีมนักสืบสวนมีการหาข้อมูล รวบรวมหลักฐาน อย่างละเอียด ซึ่งหากงานนี้พลาดและทำได้ไม่ทันเวลา ก็เท่ากับว่าคนผิดจะลอยนวลตลอดไป”
“นักสืบสวนคดีทุจริต” ต้องมีทักษะอะไรเป็นพิเศษไหม ?
การเป็นนักสืบสวนคดีทุจริต นอกจากต้องมีใจรักแล้ว ยังต้องมีทักษะอื่น ๆ อีกหลายด้าน เช่น ความอดทน ความรอบรู้ เพราะผู้ทุจริตคือคนที่มีความรู้ นักสืบจึงต้องรอบรู้ และ ขาดไม่ได้คือทักษะป้องกันตัว นักสืบทุกคนจะได้ฝึกอบรมการป้องกันตัวทั้งวิธีการต่อสู้ วิธีการใช้อาวุธ เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
คิดว่าอาชีพนี้ให้อะไรกับเราบ้าง ?
“ก็อยากจะให้ถามตัวเองว่าชอบจริง ๆ ไหม กับอาชีพนี้ ยอมเสียสละเวลาได้ไหม กับสถานการณ์ที่มันกดดัน เพราะว่างานมันไม่ได้ทำเป็นเวลา เช่น เดือนหนึ่งเราต้องทำงานเป็นอาทิตย์ บางเดือนก็ลากยาว ใจต้องพร้อมร่างกายต้องพร้อมด้วย ถ้าอยากเป็นจริง ๆ สำนักงาน ปปช. ก็ยินดีต้อนรับค่ะ”
มาคุยกับหัวหน้ากันบ้าง
นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ยอมรับกับเราว่าขณะนี้การทุจิรตในประเทศไทยมีพัฒนาการไปไกลมาก โดยเฉพาะเรื่องของการฝากทรัพย์สินไว้กับคนอื่นที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ นักสืบสวนคดีทุจริตจึงมีความสำคัญมากกับการที่จะไปสืบหาข้อเท็จจริง
คดีที่จับเยอะทุ่ดเป็นคดีประเภทไหน
"ส่วนใหญ่ก็เป็นคดีเรียกรับเงิน ผอ. ยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น คดีนายช่างโยธา ตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งในระดับ กทม. และ ระดับจังหวัด เช่น เหตุการณ์ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ จ.เชียงใหม่ กรณีการเวนคืนที่ดิน เช่น ในการเวนคืนที่ดินชาวบ้านจะได้เงิน 2 ล้าน แต่ความจริงชาวบ้านจะต้องได้ 3 ล้าน แต่ถ้าคุณอยากได้ 3 ล้าน คุณต้องมาจ่ายเจ้าหน้าที่เท่านี้เท่านั้น การทุจริตทุกวันนี้มีอยู่ทุกวงการ แต่ที่สำคัญอยู่ที่ประชาชน ผู้ให้เบาะแสที่จะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช.นั้นสำคัญที่สุด ลำพัง ป.ป.ช.บางทีเราเข้าไปก็ไม่สามารถที่จะเก็บหลักฐานได้ทั้งหมด"
สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงประชาชนบ้าง
"คงต้องยอมรับว่าการดำเนินคดีทุจริต เป็นเรื่องที่ยากและสลับซับซอน เพราะว่าส่วนใหญ่ผู้ที่ทำการทุจริตก็จะเป็นผู้มีอิทธิพล และมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ระดับกระทรวง กรม ไปยังท้องถิ่น บางทีก็มีการทุจริตเรื่องการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่กระทรวงลงไปสู่ท้องถิ่น สำคัญคือเขารู้ช่องทาง วิธีการที่จะหลบเลี่ยง ในการฮั้วประมูล การสมยอมประโยชน์ต่าง ๆ แล้วเขาก็จะมีหูมีตา ยกตัวอย่างจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง ก็จะมีเครือข่ายที่คอยบอกได้ว่า ช่วงนี้จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกต และที่สำคัญคือเขามีอิทธิพล ทางผู้เสียหายเองก็ไม่กล้าที่จะไปมีเรื่องด้วย ไม่กล้าที่จะให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. ผมขอเรียนว่าปัจจุบัน ป.ป.ช.มีระบบการรับแจ้งข้อมูลที่ปกป้อง ปกปิด เบาะแสผู้แจ้งเรื่อง มีกฎหมายคุ้มครองพยาน กฎหมายกันเป็นพยาน ชาวบ้านไม่ต้องห่วงครับ เพราะเขาเป็นผู้ให้ข้อมูล"