วัคซีนโควิด-19 กว่า 1 ล้านโดสจากจีนเดินทางถึงอินโดนีเซีย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นอกจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวของการพัฒนาวัคซีนที่สำคัญมาจากทางฝั่งจีนด้วย ซึ่งตอนนี้ก็สำเร็จแล้วเช่นเดียวกัน ล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Sinovac จากประเทศจีน ได้ขนส่งวัคซีนมากกว่า 1 ล้านโดสไปถึงประเทศอินโดนีเซียแล้ว

6 วัคซีนโควิด-19 ในต่างประเทศที่ใช้งานจริงแม้ยังวิจัยไม่สมบูรณ์

เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”

วัคซีนของ Sinovac บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศจีน มาถึงอินโดนีเซียแล้วเมื่อวานนี้ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอินโดนีเซียตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้าง

วัคซีนล็อตแรกมีจำนวน 1,200,000 โดส  ส่วนล็อตที่ 2 มี 1 ล้าน 8 แสนโดส จะมาถึงในเดือนมกราคมปีหน้า วัคซีนล็อตแรกที่อินโดนีเซียได้รับมากกว่าสหราชอาณาจักร ประเทศที่เพิ่งได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อินโดนีเซียทำข้อตกลงซื้อวัคซีนจาก Sinovac เป็นกรณีพิเศษเอาไว้ ในข้อตกลง จีนจะใช้อินโดนีเซียเป็นฐานผลิตด้วย วัคซีนตัวนี้มีการทดสอบขั้นสุดท้ายในอาสาสมัครที่อินโดนีเซียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วย  ในขณะที่ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และอ๊อกฟอร์ด ผู้พัฒนาวัคซีนรายใหญ่ออกมาประกาศว่าวัคซีนของตัวเองมีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

Sinovac ของจีนที่ยังไม่ประกาศประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างเป็นทางการ แต่ได้ทดสอบในมนุษย์ขั้นสุดท้าย และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนให้ใช้กับคนบางกลุ่มในประเทศจีนแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นอกจากอินโดนีเซียแล้ว Sinovac ยังได้ทำการทดสอบขั้นสุดท้ายกับอาสาสมัครในประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง อย่าง บราซิล และอาร์เจนตินา โดยก่อนหน้านี้บราซิลได้สั่งระงับการทดสอบไปก่อน หลังพบว่าอาสาสมัครหนึ่งรายเสียชีวิต แม้ว่าการตรวจสอบจะชี้ว่า อาสาสมัครรายนี้ไม่ได้เสียชีวิตจากวัคซีนก็ตาม

เทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนที่บริษัท Sinovac ใช้คือ วัคซีนชนิดเชื้อตาย ที่ใช้ไวรัสที่ตายแล้วในการปลูกถ่ายหน่วยความจำของเซลส์ภูมิคุ้มกัน เพื่อทำให้เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนจะเกิดปฏิกริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่วัคซีนป้องกันโปลิโอและโรคหัดใช้ แต่เป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยขั้นสูงสุด

Sinovac เป็นบริษัทแรกที่มีการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคซาร์สกับมนุษย์ในปี 2004 ซึ่งโรคซาร์สเป็นโรคกลุ่มเดียวกับโควิด-19 ดังนั้น Sinovac เป็นผู้พัฒนาวัคซีนที่มีประสบการณ์คุ้นเคยกับไวรัสสายพันธุ์นี้

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 รุนแรงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 570,000 ราย เสียชีวิตแล้วมากกว่า 17,000 ราย อินโดนีเซียจึงคาดหวังว่าวัคซีนของจีนจะมาช่วยบรรเทาวิกฤตโรคระบาดภายในประเทศได้  นอกจากอินโดนีเซียแล้ว Sinovac เตรียมส่งวัคซีนให้ตุรกี และฟิลิปปินส์

วัคซีนจะกลายเป็นสิ่งที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน แข่งขันกันพัฒนาและส่งให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะในห้วงวิกฤตแบบนี้ ความช่วยเหลือถือเป็น Soft Power ของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งจีนเองเน้นส่งวัคซีนของตัวเองไปยังประเทศต่างๆ โดยตรง มากกว่าผ่านโครงการขององค์การอนามัยโลกอย่าง COVAX

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

ขณะนี้ มีรายการกำลังถ่ายทอดสด โปรแกรมฟุตบอล คุณสนใจหรือไม่?

คอนซาโดเล่ ซัปโปโร

VS

อุราวะ เรดส์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ