"คนอ้วน" มีสิทธิก่อน บอร์ดฯเคาะ ได้ฉีดวัคซีนโควิด ก่อนใคร ก.พ. เปิดลงทะเบียน
“แอสตราเซเนกา” แจง อียู ส่งมอบวัคซีนโควิดล่าช้า เหตุเวลามีจำกัด
เทียบ “วัคซีนโควิด-19” ทำไมไทยต้องจอง “แอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด”
เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) คณะกรรมการด้านการฉีดวัคซีน (STIKO) ของสถาบัน Robert Koch Institute (RKI) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศกล่าวว่า มีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับประสิทธิภาพในกลุ่มผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีของวัคซีนโควิด-19 “AZD1222” หรือที่มีชื่อในอินเดียว่า “โควิชิลด์ (Covishield)” ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกาและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
“เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการศึกษาน้อยในกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี จึงไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้สูงอายุ STIKO จึงแนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในผู้ที่มีอายุ 18-64 ปีเท่านั้น” คณะกรรมการแนะนำ
ด้านโฆษกของแอสตราเซเนกากล่าวว่า “จากการวิเคราะห์ล่าสุดของข้อมูลการทดลองทางคลินิก มีข้อมูลสนับสนุนว่าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทมีประสิทธิภาพในกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี ขณะนี้กำลังรอผลการรับรองโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของสหภาพยุโรป”
ขณะที่อังกฤษ ซึ่งอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาเมื่อเกือบ 1 เดือนที่แล้ว ได้เริ่มให้วัคซีนแก่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในรายงานของหน่วยงานกำกับดูแล MHRA ของอังกฤษกล่าวว่า “มีข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในกลุ่มผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าขาดประสิทธิภาพในการป้องกันก็ตาม”
ดร.จูน เรน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MHRA กล่าวว่า “หลักฐานในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ว่าไม่เกิดการป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ... ข้อมูลที่เรามีแสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาก่อให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป”
ด้านปาสคาล โซริโอต์ ผู้บริหารระดับสูงของแอสตราเซเนกายอมรับว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนในผู้สูงอายุจริง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ของออกซ์ฟอร์ดที่ทำการทดลองวัคซีนยังไม่ต้องการรับอาสาสมัครผู้สูงอายุจนกว่า
ข่าวนี้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่าวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาอาจไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 จนนักวิจัยหลายคนต้องออกมาแสดงความเห็นให้คลายความกังวล
สตีเฟน อีแวนส์ ศาสตราจารย์ด้านเภสัชระบาดวิทยา ของสถาบันสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน เน้นว่า “การตัดสินใจของเยอรมนีไม่ใช่ข้อบังคับด้านกฎระเบียบ แต่เป็นคำแนะนำการใช้งานวัคซีน ... ไม่มีเหตุผลที่อังกฤษหรือที่อื่น ๆ จะคิดว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาใช้ไม่ได้ผลในทุกช่วงอายุ” อีแวนส์กล่าว
ขณะที่จิม เนสมิธ ผู้อำนวยการสถาบัน Rosalind Franklin และศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาโครงสร้างของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพยายามที่จะบรรเทาความกังวลโดยตั้งสังเกตว่า เยอรมนีได้ข้อสรุปว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี
“การประเมินของเยอรมนีคือยังมีข้อมูลประสิทธิภาพไม่มากพอ ไม่ได้บอกว่าวัคซีนไม่ได้ผลเลยในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป” เขากล่าว
สำหรับประเทศไทยได้สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกาไว้ โดย 50,000 โดสสั่งซื้อมาจากอิตาลี จากนั้นทยอยมาอีก 100,000 โดส จนครบ 150,000 โดส แต่ยังระบุไม่ได้ว่าวัคซีนจะมาถึงไทยเมื่อไหร่ และอาจไม่สามารถเริ่มการฉีดได้ตามเป้า 14 ก.พ. แต่คาดว่าวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาคงถึงไทยภายในเดือน ก.พ. แน่ เนื่องจากติดปัญหาการขนส่ง และสหภาพยุโรปจำกัดการส่งออกวัคซีน
ทั้งนี้สหภาพยุโปรกำลังจี้บริษัทแอสตราเซเนกาให้เร่งกำลังการผลิตส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้ทันตามกำหนด เนื่องจากแอสตราเซนกาอ้างว่ามีปัญหาในกระบวนการผลิต จนส่งมอบวัคซีนให้ไม่ครบตามที่ตกลงกันไว้ จนอาจเป็นผลให้การผลิตต้องเน้นให้สหภาพยุโรปก่อนบ้านเรา
เรียบเรียงจาก CNN