บราซิลเผยสาเหตุห้ามนำเข้าวัคซีน “สปุตนิกวี” พบเชื้อไข้หวัดปนเปื้อน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพบราซิลเปิดเผยสาเหตุระงับการนำเข้าวัคซีน “สปุตนิกวี” ของรัสเซีย

บราซิลยังไม่อนุมัตินำเข้าวัคซีนสปุตนิก

"วัคซีนสปุตนิค วี (Sputnik V)" 1 ใน 5 วัคซีนโควิดที่ไทยเจรจาสั่งซื้อ

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.) หน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของบราซิลประกาศห้ามนำเข้าวัคซีนโควิด-19 สปุตนิกวีจากรัสเซีย ล่าสุดชี้แจงสาเหตุแล้ว โดยระบุว่า วัคซีนสปุตนิกวี “ปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด (ไม่ใช่เชื้อก่อโรคโควิด-19)”

แองเจลา ราสมุสเซน นักไวรัสวิทยาจากองค์การวัคซีนและโรคติดเชื้อของแคนาดากล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของกระบวนการผลิตวัคซีน และอาจเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ”

นักวิจัยบางส่วนมองว่า ปัญหาวัคซีนปนเปื้อนเชื้อไข้หวัดอาจเกิดจากชนิดของวัคซีนที่เป็น “อะดีโนไวรัสเวกเตอร์” ซึ่งเป็นไวรัสที่ปกติทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย (คล้ายโควิด-19) แต่ในวัคซีนจะได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ไม่สามารถจำลองตัวเองเพื่อแพร่กระจายตัวได้ และถูกดัดแปลงให้มีลักษณะของโปรตีนหนาม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้รับมือเชื้อโควิด-19 ของจริงที่มีโปรตีนหนามเหมือนกันได้

นักวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานกำกับดูแลสุขภาพบราซิลกล่าวว่า พวกเขาได้ทดสอบตัวอย่างวัคซีนและพบว่า “มันยังสามารถจำลองตัวเองได้อยู่” ซึ่งหมายความว่าเมื่ออยู่ในร่างกายมนุษย์ อะดีโนไวรัสจะยังสามารถเพิ่มจำนวนตัวเองต่อไปได้

ราสมุสเซนอธิบายว่า ข้อผิดพลาดนี้เป็นปัญหาการควบคุมคุณภาพมากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี

เธอบอกว่า โชคดีที่พบปัญหาในวัคซีนล็อตที่ใช้เพื่อการทดสอบความปลอดภัย หากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในล็อตที่ฉีดให้ประชาชนจริง ๆ อาจเป็นเรื่องใหญ่ได้

“สำหรับคนส่วนใหญ่ สิ่งนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะโดยทั่วไปแล้วอะดีโนไวรัสไม่ได้เป็นเชื้อโรคที่อันตรายต่อมนุษย์ แต่ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจมีผลเสียได้” ราสมุสเซนบอก

ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อวัคซีนโควิด-19 สปุตนิก ซึ่งเดิมทีผมการศึกษาในวารสาร The Lancet แสดงให้เห็นว่า มีความปลอดภัยและได้มีประสิทธิภาพทั่วไปในการป้องกันโควิด-19 สูงกว่า 90% จริง

ปัญหาอีกหนึ่งประการที่น่าเป็นกังวลคือ การจำลองและเพิ่มจำนวนตัวเองซ้ำ ๆ ของอะดีโนไวรัส จะทำให้วัคซีนสูญเสียประสิทธิภาพหรือไม่

ด้านสถาบันกามาเลยาของรัสเซียซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 สปุตนิกวีได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวของบราซิล โดย เดนิส โลกูนอฟ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ตอบว่า “ข้อในสื่อไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง และยืนยันว่าอะดีไวรัสในวัคซีนของเราไม่สามารถเพิ่มจำนวนตัวเองได้”

เรียบเรียงจาก CNA

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ