แอฟริกาใต้ พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 แพร่เร็ว-ต้านภูมิคุ้มกัน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่มีท่าทีที่จะดีขึ้น เพราะการระบาดของโควิด-19 หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาจากอินเดีย ตอนนี้นานาชาติต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรของตัวเองให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และป้องกันไม่ให้โควิด-19 กลายพันธุ์เพิ่ม แต่ล่าสุดแอฟริกาใต้ก็มีรายงานการพบโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ ที่อาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วและหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์

แอฟริกาใต้พบโควิด-19 "C.1.2" อีกหนึ่งสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องจับตา

อนามัยโลก จับตาโควิดสายพันธุ์ “มิว” ต้านทาน-หนีภูมิคุ้มกันได้

สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้เปิดเผยงานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า C.1.2 ที่ถูกตรวจพบเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรื่องราวของไวรัสใหม่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษาวิจัย แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ได้แสดงความกังวล เพราะโควิด-19 กลายพันธุ์ C.1.2 มีลักษณะการกลายพันธุ์คล้ายกับไวรัส อัลฟา จากสหราชอาณาจักร และไวรัส เบตา จากแอฟริกาใต้

ในกรณีนี้หมายความว่า ไวรัส C.1.2 อาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วและอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือเกิดจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อนได้

ทั้งนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถกำหนดได้ว่า โควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 จัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) หรือสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variant of Interest) ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและงานวิจัยที่ตรวจพบไวรัสตัวนี้ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญหรือที่เรียกว่า Peer Review

โดยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ในแอฟริกาใต้ยังคงมีอัตราที่ต่ำ หรือไม่ถึงร้อยละ 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ จึงเร็วเกินกว่าที่จะคาดการณ์ว่าไวรัสตัวนี้จะกลายพันธุ์ไปเป็นแบบใด และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้จะมีปฎิกิริยาหรือต้านทานภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม เพนนี มัวร์ ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ได้แสดงความมั่นใจว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่แอฟริกาใต้อนุมัติใช้เป็นการฉุกเฉิน ได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน สามารถป้องกันผู้ป่วยโควิด-19 จากอาการติดเชื้อรุนแรงและการเสียชีวิตได้

จนถึงขณะนี้ มีการตรวจพบไวรัส C.1.2 ใน 9 จังหวัดของแอฟริกาใต้แล้ว และยังพบการแพร่ระบาดไปอีก 7 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหราชอาณาจักร จีน ดีอาร์คองโก มอริเซียส นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์

หลังการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ C.1.2 ผู้เชี่ยวชาญจากแอฟริกาได้เตือนประชาชนทั้งในแอฟริกาใต้และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกว่า อย่าชะล่าใจ เพราะโควิด-19 กลายพันธุ์ตลอดเวลาเพื่อหาวิธีแพร่เชื้อมายังมนุษย์ พร้อมขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันลดอัตราการติดเชื้ออย่างจริงจัง

ด้านองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้ว่า ไวรัส C.1.2 มีอัตราการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น และทางอนามัยโลกเองยังไม่จัดให้ไวรัสตัวนี้อยู่ในกลุ่มไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลหรือ Variant of Concern แต่ยืนยันที่จะเฝ้าระวังไวรัสชนิดนี้อย่างใกล้ชิด

 

 

จับตาโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” หวั่นต้านวัคซีน

ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศว่า กำลังจับตามองโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีกตัวที่ชื่อว่า “มิว” ที่มีความเสี่ยงที่จะต้านทานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่โลกมีอยู่

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยว่า กำลังเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “มิว” หรือ B.1.621 ที่ถูกตรวจพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ไวรัสมิวอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าจับตามองหรือ Vairant of Interest เนื่องจากรูปแบบการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้อาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้รวดเร็วและอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้

นอกจากนั้น รูปแบบการกลายพันธุ์ของไวรัสมิวยังบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการต้านทานการทำงานของยาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทั่วโลกมีอยู่ และมีความเสี่ยงที่จะหลบหลีกภูมิต้านทานของร่างกายมนุษย์

ทางองค์การอนามัยโลกกจึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจไวรัสสายพันธุ์นี้ให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกระบุว่าอัตราการระบาดของไวรัสสายพันธุ์มิวทั่วโลกต่ำมาก หรือน้อยว่าร้อยละ 0.1 แต่ที่น่ากังวลคือในโคลอมเบีย ประเทศแรกที่พบสายพันธุ์นี้ ปัจจุบันพบสัดส่วนการระบาดมากถึงร้อยละ 39

ทำให้ตอนนี้ โควิด-19 สายพันธุ์มิวจากโคลอมเบียคือไวรัสกลายพันธุ์ตัวที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง ถัดจากไวรัสเอตา ไอโอตา แคปปา และแลมบ์ดา ส่วนโควิดกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งเป็นกลุ่มสายพันธุ์อันตรายกว่า ยังคงมี 4 ชนิดตามเดิม ได้แก่ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ