สนามเกมโลกเดือด “ไมโครซอฟต์” ลงสนามชิงเค้ก 68,000 ล้านเหรียญ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ไมโครซอฟต์เข้าซื้อกิจการเกมของแอคติวิชันฯ มูลค่า 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หวังดึงเหล่าเกมเมอร์สู่ระบบคลาวด์ของตน

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในวงการเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเกม จากการที่บริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft Corp.) ประกาศซื้อกิจการบริษัท แอคติวิชัน บลิซซาร์ด (Activision Blizzard Inc.) บริษัทผู้พัฒนาเกมรายใหญ่ของโลก ในมูลค่า 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะเขย่าอุตสาหกรรมเกมด้วยการขยายคลังวิดีโอเกมของบริษัทและดึงดูดผู้บริโภคให้ใช้บริการเกมบนคลาวด์และคอนโซลของไมโครซอฟต์

มุมมองคนทำ "เทคโนโลยีเสมือนจริง" โอกาสและอนาคตในโลกใหม่ “เมตาเวิร์ส”

คู่รักไอทีอินเดียเตรียมแต่งงานในเมตาเวิร์ส-เชิญแขกอวตาร

แพทย์ห่วงเด็กกลุ่มเปราะบางติดเกม เสี่ยงก้าวร้าว "เกมเมอร์" ชี้ข้อดีสร้างรายได้เลี้ยงตัว

ไมโครซอฟต์ระบุว่า ปัจจุบัน มีประชากรทั่วโลกกว่า 3 พันล้านคนที่เล่นเกม จึงกลายเป็นรูปแบบความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดของโลกยุคใหม่ การเข้าซื้อกิจการแอคติวิชัน บลิซซาร์ด จะช่วยเร่งการเติบโตในธุรกิจเกมของไมโครซอฟต์ ทั้งบนอุปกรณ์พกพา คอมพิวเตอร์พีซี คอนโซล บนคลาวด์ และรวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับเมตาเวิร์สด้วย

หากการเข้าซื้อเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไมโครซอฟต์จะกลายเป็นบริษัทที่มีรายรับจากเกมสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเทนเซนต์ (Tencent) และโซนี่ (Sony)

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ จะทำให้มีสตูดิโอเกม 30 แห่งอยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งรวมถึงผู้พัฒนาแฟรนไชส์เกมที่โด่งดัง ไม่ว่าจะเป็น วอร์คราฟต์ (Warcraft), เดียโบล (Diablo), โอเวอร์วอช (Overwatch), คอลออฟดิวตี้ (Call of Duty) และ แคนดี้ครัช (Candy Crush) ตกอยู่ในความดูแลของไมโครซอฟต์ รวมถึงกิจกรรมการแข่งขันอีสปอร์ตของเกมเหล่านี้ด้วย

สัตยา นาเดลลา ประธานและซีอีโอของไมโครซอฟต์ กล่าวว่า “การเล่นเกมเป็นความบันเทิงที่มีพลังและน่าตื่นเต้นที่สุดในทุกแพลตฟอร์มในปัจจุบัน และจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส ... เรากำลังลงทุนในเนื้อหาระดับโลก ชุมชน และระบบคลาวด์ เพื่อนำไปสู่ยุคใหม่ของการเล่นเกมที่ให้ความสำคัญกับผู้เล่นและผู้สร้าง และทำให้เกมมีความปลอดภัย ครอบคลุม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”

ดีลมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาทนี้นับเป็นหนึ่งในการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟต์ และเป็นการลงทุนที่ทะเยอทะยานที่สุดในแผนการที่จะเปลี่ยนบริการสมัครสมาชิก “เกมพาส (Game Pass)” หรือบริการสมัครสมาชิกรายเดือนของ Xbox เกมคอนโซลของไมโครซอฟต์ ที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงคลังเกมได้นับร้อยเกม และเลือกดาวน์โหลดมาเล่นได้เลยทันทีตามความต้องการ โดยมีแผนจะพัฒนาเกมพาสให้เป็นเหมือน “เน็ตฟลิกซ์ของอุตสาหกรรมเกม”

ประมาณหนึ่งทศวรรษที่แล้ว ไมโครซอฟต์ได้นำบริการคลาวด์แบบสมัครสมาชิก (Subscription) มาใช้ หรือการเข้าถึงความบันเทิงโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์อื่น เช่น เล่นเกมก็ไม่ต้องซื้อคอนโซล ซึ่งครั้งนั้นช่วยยกระดับมูลค่าตลาดของบริษัทให้สูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65 ล้านล้านบาท) และรักษาสถานะเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก

การเข้าซื้อกิจการของ แอคติวิชัน บลิซซาร์ด จะทำให้ไมโครซอฟต์ใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้กับเหล่านักเล่นเกมได้ โดยเกลี้ยกล่อมให้เกมเมอร์ละทิ้งคอนโซลและหันมาเล่นเกมบนคลาวด์แทน

ด้วยจำนวนเกมเมอร์ที่เล่นบนสมาร์ทโฟนมากกว่าเกมคอนโซลและคอมพิวเตอร์ บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกจึงแข่งขันกันเพื่อพัฒนาบริการสำหรับการสตรีมเกมระดับไฮเอนด์ไปยังอุปกรณ์ทุกประเภทในลักษณะเดียวกับการสตรีมภาพยนตร์และรายการทีวี แต่ไมโครซอฟต์เป็นผู้บุกเบิกการเล่นเกมบนระบบคลาวด์

มาร์ก โมร์ดเลอร์ นักวิเคราะห์ของ Bernstein Research กล่าวว่า “ไมโครซอฟต์ซื้อสตูดิโอเกมจำนวนมากเนื่องจากพวกเขาพยายามยกระดับเกมพาวและการเล่นเกมแบบสมัครสมาชิก”

เขาเสริมว่า หากไมโครซอฟต์สามารถเปลี่ยนผู้ใช้งานรายเดือนของแอคติวิชันเกือบ 400 ล้านคนให้กลายเป็นสมาชิกของตนได้ ก็จะสามารถหนุนธุรกิจเกมบนคลาวด์ได้อย่างมาก

การเล่นเกมบนคลาวด์เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถสตรีมเกมโดยใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ในลักษณะเดียวกับการสตรีมวิดีโอบนเน็ตฟลิกซ์ และแม้ว่าตัวเน็ตฟลิกซ์เองจะขยับเข้าสู่อุตสาหกรรมเกมบนมือถือในปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีเกมเพียงไม่กี่เกมเท่านั้น และสมาชิกต้องดาวน์โหลดไปยังอุปกรณ์แอนดรอยด์หรือไอโอเอส ไม่ใช่เกมที่สามารถสตรีมผ่านระบบคลาวด์ได้

ข้อมูลของบริษัทวิจัย Omdia ระบุว่า ในปีที่แล้ว การใช้จ่ายของผู้บริโภคในบริการเกมบนคลาวด์สูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 แสนล้านบาท) โดย 60% เป็นรายได้ของเกมพาสของไมโครซอฟต์ คาดการณ์ว่าในปี 2026 การใช้จ่ายบริการเกมบนคลาวด์จะสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.9 แสนล้านบาท)

นอกเหนือจากการประกาศซื้อกิจการตามแผนแล้ว ไมโครซอฟต์ยังเกิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา สมาชิกเกมพาสได้เพิ่มขึ้น 39% เป็น 25 ล้านบัญชี

นาเดลลากล่าวว่า ไมโครซอฟต์วางแผนที่จะนำเกมของแอคติวิชันฯ มาอยู่ในระบบเกมพาสให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับเกมในอนาคตจากแอคติวิชันฯ ซึ่งสามารถนำมาลงเฉพาะคอนโซล Xbox หรือแค่เกมพาสของไมโครซอฟต์ได้ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า อาจเป็นการจำกัดโอกาสในการขายคอนโซลของบริษัทอื่น ๆ เช่น เพลย์สเตชัน (PlayStation) ของโซนี่

และผลจากการดีลครั้งนี้ ยังมีผลกระทบกับผู้บริโภคหรือเกมเมอร์บางส่วนด้วย โดยเฉพาะสาวกโซนี่และนินเทนโด ที่หากเกมที่ชอบลงแต่ในเกมพาสหรือ Xbox ก็อาจต้องตัดใจไม่เล่นเกมนั้น ๆ แล้ว หรืออาจจำต้องยอมเสียเงินซื้อคอนโซลหรือสมัครเกมพาสของไมโครซอฟต์เพิ่ม

ทั้งนี้ ไมโครซอฟต์ไม่ใช่เจ้าเดียวที่มีการซื้อกิจการบริษัทเกมอื่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เทกทูอินเทอร์แอคทีฟ (Take-Two Interactive) บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเกมดังอย่าง “จีทีเอ (Grand Theft Auto)” “เรดเดดรีเดมพ์ชัน (Red Dead Redemption) ประกาศซื้อกินการบริษัทเกมมือถือ Zynga ด้วยมูลค่า 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.2 แสนล้านบาท) หรือเมื่อปีที่แล้ว โซนี่ได้ซื้อสตูดิโอเกม 6 แห่งด้วยราคาที่ไม่มีการเปิดเผย

ข้อมูลจาก PitchBook ระบุว่า มูลค่าการควบรวมและซื้อกิจการเกมเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.6 แสนล้านบาท) ในปี 2021 จาก 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.9 แสนล้านบาท) ในปี 2020 และข้อตกลงร่วมทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 แสนล้านบาท) จาก 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.1 แสนล้านบาท)

เรียบเรียงจาก Microsoft / Wall Street Journal

ภาพจาก AFP / Getty Image

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ