
“ยูเครน” ต้าน “รัสเซีย” ไหวหรือไม่ เมื่อกำลังรบน้อยกว่าราว 3 เท่า
เผยแพร่
เทียบกำลังรบรัสเซีย-ยูเครน ฝ่ายหลังจะต้านไหวหรือไม่ และโอกาสที่จะกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบมีเท่าใด
ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 24 ก.พ. หลังวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ก็เกิดการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยรัสเซียมุ่งเป้าทำให้โครงสร้างทางการทหารของยูเครนเป็นอัมพาตด้วยการโจมตีทางอากาศ และทยอยเคลื่อนกำลังพลข้ามแดนมายังยูเครน ขณะที่ยูเครนก็พยายามปกป้องน่านฟ้าของตนจากขีปนาวุธ
จึงเกิดคำถามสำคัญว่า เมื่อเจอกับ “ออร์เดิร์ฟ” ยูเครนยังดูตกเป็นรองพอสมควร หากเกิดสงครามเต็มรูปแบบกว่านี้ ยูเครนจะสามารถต้านทานแสนยานุภาพของรัสเซียได้หรือไม่
ผู้นำโลก ร่วมประณามรัสเซีย เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรง
มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 ราย หลังรัสเซียเริ่มโจมตียูเครน
ด่วน! ปูตินประกาศ “รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน” ชี้อาจต้องนองเลือด
หากเทียบกองกำลังของทั้งประเทศ รัสเซียมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากกว่ายูเครนโดยรวมประมาณ 3 เท่า แต่ผู้เชี่ยวชาญทางทหารประเมินว่า หากรัสเซียตัดสินใจทำสงครามเต็มรูปแบบ ก็มีราคาที่ต้องจ่ายสูงไม่น้อย
ปัจจุบัน กองทัพของยูเครนได้รับการฝึกฝนให้มีศักยภาพสูงกว่าเมื่อปี 2014 ซึ่งพ่ายแพ้ต่อรัสเซียและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน จนรัสเซียยึดคาบสมุทรไครเมียจากยูเครนโดยไม่ต้องสู้รบ
ที่ผ่านมา ยูเครนพยายามเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศมาโดยตลอด และเด่นชัดในยุคของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่แก้กฤษฎีกา เพิ่มความน่าดึงดูดใจของการรับราชการทหาร และพยายามเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นกองทัพมืออาชีพอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแผนงานคาดว่ายูเครนจะมีกำลังพล 361,000 นายในท้ายที่สุด
แม้ว่ายูเครนจะเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศเป็น 3 เท่าจากปี 2010 ถึง 2020 แต่รายจ่ายด้านการป้องกันประเทศทั้งหมดในปี 2020 อยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4 แสนล้านบาท) แต่งบดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 10 ของรัสเซียเท่านั้น
นักวิเคราะห์ด้านการทหารกล่าวว่า ระบบป้องกันอากาศยานและป้องกันขีปนาวุธของยูเครนเองก็มีจำนวนน้อย ส่งผลให้รัสเซียสามารถโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยูเครนจากทางอากาศได้
นอกจากนี้ มีการประเมินว่า รัสเซียจะพยายามใช้ความเหนือกว่าในสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้คำสั่งและการควบคุมของยูเครนเป็นอัมพาต และตัดการติดต่อสื่อสารกับหน่วยต่าง ๆ
ในแง่ของประสบการณ์ กองกำลังของยูเครนได้รับประสบการณ์การต่อสู้ในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งได้ต่อสู้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีรัสเซียหนุนหลังมาตั้งแต่ปี 2014
พวกเขายังได้ฝึกระบบป้องกันภัยทางอากาศ และอาวุธต่อต้านรถถัง รวมถึงขีปนาวุธจาเวลินที่สหรัฐฯ จัดหาให้ ซึ่งเมื่อนำมาใช้จริง อาจจะช่วยให้รัสเซียรุกเข้าได้ช้าลงในระดับหนึ่ง
นอกเหนือจากกองทัพประจำแล้ว ยูเครนยังมีหน่วยอาสาสมัครป้องกันดินแดนและกองหนุนประมาณ 900,000 นาย ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกทหารขั้นพื้นฐานเป็นอย่างน้อย ดังนั้นรัสเซียอาจพบการต่อต้านแบบกัดไม่ปล่อยและยืดเยื้อหากพยายามยึดครองยูเครน
ส่วนในประเด็นของกำลังหนุนจากภายนอก หรือความช่วยเหลือจากชาติอื่น ๆ นั้น ก่อนหน้านี้รัสเซียดักคอสหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรไว้แล้วว่า หากเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนในครั้งนี้ จะต้องเจอกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรอาจไม่ส่งกำลังมาช่วยยูเครนโดยตรง แต่ใช้มาตรการคว่ำบาตรกดดันรัสเซีย และสนับสนุนเป็นอุปกรณ์เครื่องมือแทน
โดยสหรัฐฯ ออกคำสั่งห้ามส่งทหารสหรัฐฯ ไปยูเครนเพื่อสู้รบ โดยก่อนหน้านี้ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.1 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2014 รวมถึงขีปนาวุธต่อต้านรถถังจาเวลิน เรือลาดตระเวนชายฝั่ง รถฮัมวี ปืนไรเฟิล โดรนสอดแนม ระบบเรดาร์ กล้องสำหรับเวลากลางคืน อุปกรณ์วิทยุ ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานสติงเกอร์ อาวุธขนาดเล็ก และเรือรบ
ด้านตุรกีได้ขายโดรน Bayraktar TB2 หลายชุดให้กับยูเครน ซึ่งก่นหน้านี้นำมาใช้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียในยูเครนตะวันออกแล้ว
สหราชอาณาจักรจัดหาขีปนาวุธต่อต้านรถถัง 2,000 ลูกให้กับยูเครนในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยฝึกฝนการใช้ นอกจากนี้ยังได้จัดหารถหุ้มเกราะแซกซอนด้วย
เอสโตเนียกล่าวว่า ได้ส่งขีปนาวุธต่อต้านยานเกราะจาเวลินให้ยูเครน ส่วนลัตเวียและลิทัวเนียกำลังจัดหาขีปนาวุธสติงเกอร์ให้ ขณะที่สาธารณรัฐเช็กกล่าวว่ามีแผนจะบริจาคกระสุนปืนใหญ่ 152 มม.
ส่วนเยอรมนียกเลิกการส่งมอบอาวุธให้ยูเครน แต่ให้ทุนสนับสนุนโรงพยาบาลสนามมูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 195 ล้านบาท) และจัดการฝึกอบรมทางการแพทย์
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์ทางทหารหลายคนกล่าวว่า การทำสงครามเต็มรูปแบบไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ยาวนานและยุ่งเหยิง และจะมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่รัสเซียต้องการหลีกเลี่ยง
พวกเขาคาดว่ารัสเซียจะเลือกใช้การโจมตีทางอากาศและค่อย ๆ รุกคืบยึดครองดินแดน แทนที่จะทำสงครามแบบทุ่มทุกสรรพกำลัง
อีกทางเลือกหนึ่งคือ รัสเซียอาจจะค่อย ๆ ผลักดันเข้ามาจากชายแดน โดยใช้ทัพตะวันออกแถบภูมิภาคดอนบาส ผนวกกับทัพใต้จากไครเมียและทะเลดำ และทัพเหนือจากกองทหารในเบลารุส ค่อย ๆ ขนาบรุกคืบเข้ามา
นอกจากนี้ หากเกิดสงครามเต็มรูปแบบ ปูตินมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านครั้งใหญ่จากประชาชนชาวรัสเซียในประเทศตัวเอง บวกกับแรงกดดันจากการคว่ำบาตร ก็อาจทำให้รัสเซียไม่กล้าทำสงครามเต็มรูปแบบ ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับยูเครนที่จะสามารถต้านกองทัพรัสเซียไว้ได้ อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการเจรจากันอีกสักครั้ง
เรียบเรียงจาก Reuters
ภาพจาก AFP
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline