ตลอดศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศยูเครน มีรายงานเสียงระเบิดหลายสิบครั้งในพื้นที่ใจกลางกรุงเคียฟ พร้อมกับมีเสียงเตอนภัยทางอากาศดังขึ้นบ่อยครั้งกว่าหลายวันก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากองทัพรัสเซียกำลังยกระดับการโจมตีพื้นที่รอบเมืองหลวงแห่งนี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า กองทัพรัสเซียยังคงไม่เคลื่อนขบวนเข้าสู่ใจกลางกรุงเคียฟ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าเป็นเพราะปัญหาการส่งกำลังบำรุง แต่เชื่อว่ากองทัพรัสเซียจะยังคงปิดล้อมพื้นที่ต่อไป
ปูติน สั่งทหารข้ามแดนไปยัง 2 จังหวัดยูเครน อ้างรักษาสันติภาพ
สหพันธ์ยูโดนานาชาติระงับสถานะ "ปูติน" ในตำแหน่ง ปธ.กิตติมศักดิ์
ส่วนที่เมืองมารีอูปอล (Mariupol) เมืองที่สำคัญของยูเครน ที่ตกอยู่ภายใต้การปิดล้อมของกองทัพรัสเซีย นายกเทศมนตรีของมนตรีของเมืองเปิดเผยว่าขณะนี้กำลังขาดแคลนอาหาร น้ำ และ กระแสไฟฟ้า โดยได้ขอร้องให้มีการเปิดเส้นทางมนุษยธรรมเพื่ออพยพประชาชนประมาณ 400,000 คนออกจากพื้นที่
ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แถลงเมื่อวานนี้ว่ารัสเซีย “ไม่มีเจตนาร้าย” ต่อประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในเวลาเดียวกัน กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ควรใช้มาตรการจำกัดในรูปแบบใดต่อรัสเซีย เพราะจะเป็นการยกระดับความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น
โดย ปูติน ยืนยันว่าได้ดำนเนินการทุกอย่างตามหน้าที่ ซึ่งจากบรรยากาศตอนนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง “ซ้ำเติม” หรือทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิมอีก
อย่างไรก็ตาม ปูติน ย้ำว่าหากรัฐบาลรัสเซียยกระดับมาตรการในรูปแบบใด นั่นหมายความว่า เป็นการตอบสนองต่อการดำเนินการที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซียเท่านั้น
เรายืนยันมาโดยตลอดว่าไม่มีเจตนาร้ายต่อเพื่อนบ้าน ผมอยากจะบอกกับประเทศเหล่านี้ว่าอย่าทำให้เกิดความตึงเครียดมากกว่าเดิม อย่าใช้มาตรการคว่ำบาตร เราทำตามหน้าที่ของเราและจะดำเนินการต่อไป
เราไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำให้สถานการณ์ตึงเครียดหนักขึ้น และทำให้สถานการณ์แย่ลง สิ่งที่เราทำทุกอย่างเป็นไปเพื่อการตอบโต้การกระทำที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศรัสเซียเท่านั้น ผมคิดว่าทุกคนควรรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือให้เป็นไปตามปกติต่อไป
ถ้อยแถลงดังกล่าวของปูติน เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ของ 30 ชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม โดยนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า นาโตพร้อม “ปกป้องอธิปไตยทุกตารางนิ้วของสมาชิก” และนาโตไม่มีความประสงค์สู้รบกับฝ่ายใด แต่หากภัยนั้นมาถึงตัว นาโตไม่ลังเลที่จะตอบโต้เช่นกัน
ทว่านาโตยังคงยืนยัน “ไม่มีนโยบาย” ประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าของยูเครน เนื่องจากเท่ากับเป็นการนำตัวเองเข้าไปสู่ “การเผชิญหน้าโดยตรง”
ขณะที่ ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซลินสกี ผู้นำยูเครน วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าวของผู้นำชาติตะวันตกเท่ากับเป็นการเปิดทางให้กับรัสเซียโจมตียูเครนต่อไป
ขณะเดียวกัน เซลินสกี ได้จัดการปราศรัยด้วยระบบไลฟ์สตรีมที่ถ่ายทอดไปยังหลายเมืองในทวีปยุโรป โดยที่เมืองแฟรงเฟริ์ต ประเทศเยอรมนี ประชาชนประมาณ 2,000 คน ได้ออกมารวมตัวกันที่จตุรัสโรเมอเบิร์ก เพื่อร่วมกันแสดงจุดยืนสนุนยูเครน ที่กำลังต่อสู้การรุกรานจากรัสเซีย
ระหว่างไลฟ์ตรีมการปราศรัย เซลินสกี ได้เรียกร้องให้ประชาชนทั่วทวีปยุโรปออกมาแสดงพลังปกป้องและช่วยเหลือยูเครน เพราะหากยูเครนพ่ายแพ้ ยุโรปก็จะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับที่กรุงทบิลิซี เมืองหลวงของประเทศจอร์เจีย ประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวกันที่ย่านใจกลางเมือง เพื่อฟังคำปราศรัยของ เซลินสกี โดยผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งระบุว่ายูเครนกำลังต่อสู้ในครามเดียวกับจอร์เจียร์
โดยในปี 2008 จอร์เจียเคยทำสงครามกับรัสเซียจากกรณีข้อพิพาทเหนือดินแดน 2 ภูมิภาคคือ เซาท์ ออสเซเตีย (South Ossetia) และ อับคาเซีย(Abkhazia) ซึ่งหลังจากการสู้รบสิ้นสุดลง รัสเซียได้รับรองให้ทั้ง 2 ภูมิภาคเป็นดินแดนอิสระ
ที่กรุงปรากเมืองหลวงของประเทศสาธารณรัฐเช็ก ประชาชนถึง 40,000 คน ออกมารวมตัวกันที่จตุรัสเวนเชสลาส(WENCESLAS) เพื่อสนับสนุนยูเครน ซึ่งผู้ประท้วงบอกว่าหากยูเครนยังไม่สามารถหยุดยั้งปูตินได้ ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของชาวเช็กที่ต้องต่อสู้กับรัสเซียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ขณะที่เมื่อวานนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ประชุมฉุกเฉินกรณีเพลิงไหม้โรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ในเมืองเอแนร์ฮอดาร์ (Enerhodar) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป
โดยผู้แทนสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร วิพากษ์วิจารณ์รัสเซียอย่างหนักในที่ประชุมซึ่ง นางลินดา โธมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า โลก หลีกเลี่ยงการเกิดหายนะทางนิวเคลียร์ไปได้อย่างหวุดหวิด การโจมตีของกองกำลังรัสเซีย ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการกระทำ ที่ประมาทเลินเล่อ และอันตรายอย่างเหลือเชื่อ ตลอดจน เป็นการกระทำที่คุกคามความปลอดภัยของพลเรือนทั่วรัสเซีย ยูเครนและยุโรป
ขณะที่ เซอร์เก คิลิทสยา (Sergiy Kyslytsya) เอกอัครราชทูตยูเครนประจำยูเอ็นกล่าวหารัสเซียว่า ก่อการร้ายนิวเคลียร์ หลังก่อเหตุโจมตีและเข้าควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย พร้อมเตือนว่าประชาชนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่จะตกอยู่ในอันตราย หากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ถูกรบกวน ทั้งยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ ประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน ขับรัสเซียออกจากองค์กรระหว่างประเทศ สนับสนุนยูเครนด้านความมั่นคงและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ส่วนวาซิลี เนเบนเซีย ( Vassily Nebenzia ) เอคอัคราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ชาติตะวันตกที่กล่าวหาว่ากองทัพมอสโกโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยระบุว่า เป็นเรื่องโกหกและมีการบิดเบือนข้อมูล เนื่องจากผู้ก่อวินาศกรรมยูเครน เปิดฉากยิงเข้าใส่กองกำลังรัสเซีย ก่อน จนทำให้ทหารรัสเซียต้องตัดสินใจยิงตอบโต้ พร้อมกล่าวด้วยว่า ในตอนนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียและพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับการคุ้มกันจากกองทหารรัสเซีย