อาหารขาดแคลน-พรากลูก-ฆ่าสุนัข “โควิด-19 เซี่ยงไฮ้” บททดสอบใหญ่ของจีน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

โควิด-19 เซี่ยงไฮ้ ผลักจีนไปสู่ความท้าทายใหม่ เมื่อมาตรการที่เข้มงวดเกินไป กำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนในตัวรัฐบาลจีน

เป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้ว ที่โควิด-19 ทำให้หลายคนล้มลุกคลุกคลานในชีวิตวิถีใหม่ที่เปลี่ยนไป ในเวลาที่ผ่านมานี้ มีหลายประเทศที่ตัดสินใจจะปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสเจ้าปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบางประเทศที่ยังคงใช้ไม้แข็งในการต่อสู้กับโควิด-19

แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่าง “จีน” ที่ยืนหยัดในนโยบาย Zero COVID หรือการทำให้จีนปลอดจากโควิด-19 ด้วยการตรวจเชิงรุกให้ประชากรหลายล้านคนต่อวัน การใช้มาตรการลอกดาวน์ทั้งเมืองแม้มีคนติดเชื้อเพียงหลักสิบหรือหลักร้อย

“เซี่ยงไฮ้”เริ่มล็อกดาวน์เพิ่ม ปิดพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองสกัดโควิด

"เซี่ยงไฮ้" ยกระดับล็อกดาวน์เข้ม ปชช.แห่ซื้อของกักตุนเกลี้ยงแผง

จีนสั่งล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ หลังยอดติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง

เรียกได้ว่า จีนวางสถานะตัวเองเป็น “ศัตรูคู่อาฆาต” กับโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง ในระดับ “เราท่านตกตายไปตามกัน” ที่พร้อมยอมแลกเกือบทุกอย่างเพื่อขจัดเจ้าไวรัสร้ายนี้

ในช่วงแรกที่จีนดำเนินนโยบายนี้ ก็มีทั้งฝ่ายที่ชื่นชมและฝ่ายที่คัดค้าน ฝ่ายที่ชื่นชมก็มองว่า มาตรการที่เข้มงวดของจีนสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จริง ทำให้ประชาชนปลอดภัย แต่ฝั่งที่คัดค้านก็มองว่า มาตรการของจีน “ตึงไม่ยอมคลาย” จนเกินไป อาจมีผลกับเศรษฐกิจและวถีชีวิตของผู้คน

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าจีนทำได้ค่อนข้างดีมาตลอดในการดำเนินนโยบาย Zero COVID มาตลอดจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เกิดการแพรระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่สุดของจีนที่ “เซี่ยงไฮ้” ศูนย์กลางการค้าของจีนและของโลก

กำแพงเมืองแตก

การระบาดของโควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้เริ่มขึ้นช่วงปลายเดือน ก.พ. เกิดจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีข้อมูลว่าสามารถแพร่กระจายได้เร็วและง่ายกว่าสายพันธุ์ที่ผ่าน ๆ มา

โดยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. มีหญิงวัย 56 ปีรายหนึ่ง มาโรงพยาบาลถงจี้ เนื่องจากมีไข้ และพบว่าเธอติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแบบไม่รุนแรง ซึ่งเธอฉีดวัคซีนครบโดส

เพื่อนร่วมงานของเธออีกอย่างน้อย 8 รายก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ บางพื้นที่ของเซี่ยงไฮ้จึงถูกเปลี่ยนระดับความเสี่ยงจาก “ความเสี่ยงต่ำ” เป็น “ความเสี่ยงปานกลาง” ในทันทีตามมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีน

ต่อมาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้ต่อวันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงกลางเดือน มี.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 2,000 รายต่อวัน ช่วงปลายเดือน มี.ค. พบราว 3,000 รายต่อวัน ทำให้ทางการจีนตัดสินใจล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 25 ล้านคน นับเป็นการล็อกดาวน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน

ในทีแรก ทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศแบ่งการล็อกดาวน์เป็น 2 รอบ รอบแรกเป็นการล็อกดาวน์ฝั่งตะวันออกของเมือง เริ่มมีผลตั้งแต่ 28 มี.ค. ไปจนถึง 1 เม.ย. ส่วนรอบที่ 2 จะเป็นฝั่งตะวันตก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-5 เม.ย.

ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ระบบการขนส่งมวลชนทั้งหมดในเซี่ยงไฮ้ รวมถึงแท็กซี่ จะระงับการให้บริการ รวมถึงห้ามประชาชนออกจากบ้านหรือนำรถออกมาวิ่งบนถนนโดยไม่มีเหตุจำเป็น บริษัทและโรงงานต้องปิดทำการชั่วคราว หรือให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน

ซึ่งระหว่างการล็อกดาวน์ เจ้าหน้าที่จะเร่งตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประชาชนของเซี่ยงไฮ้

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 เม.ย. หลังล็อกดาวน์ได้เพียง 1 วัน ก็มีคำสั่งใหม่ออกมาว่า ประชาชนทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้าน จนกว่าจะผ่านการตรวจหาเชื้อโดยเจ้าหน้าที่แล้วเท่านั้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่แห่ออกมาซื้ออาหารและของใช้กักตุน จนเกลี้ยงชั้นวางสินค้า

เดิมทีทางการจีนประเมินว่า การล็อกดาวน์จะสิ้นสุดได้ในวันที่ 5 เม.ย. ตามแผนงาน แต่ปรากฏว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมากลับสูงถึงเกือบ 20,000 รายต่อวัน ทำให้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ทางการเซี่ยงไฮ้ต้องสั่งขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไป

และกลายเป็นว่า โควิด-19 เซี่ยงไฮ้นี้ ทำให้ทางการจีนถูกประชาชนของตนเองวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งที่ส่วนใหญ่เคยเข้าข้างและเห็นชอบกับนโยบาย Zero COVID มาโดยตลอด ซึ่งเกิดจากปัญหาหลายอย่างในกระบวนการล็อกดาวน์ครั้งนี้ของจีน

ประชาชนขาดแคลนอาหารและยา

ชาวเมืองบางส่วนที่ถูกล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า พวกเขาเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร เพราะถูกสั่งให้กักตัวอยู่แต่ในบ้าน ห้ามออกนอกบ้านเด็ดขาด แม้จะมีเหตุผลสำคัญ เช่น การซื้อของจำเป็น ก็ไม่สามารถออกจากบ้านได้

ด้วยมาตรการที่เคร่งครัด ทำให้ผู้คนต้องสั่งอาหารและน้ำดื่มผ่านบริการเดลิเวอรีของร้านอาหารหรือร้านค้า หรือรอการแจกจ่ายเสบียงจากภาครัฐเท่านั้น หรือหากใครที่ตอนแรกกักตุนอาหารและของที่จำเป็นไว้เพียงพอ ก็อาจผ่านพ้นการล็อกดาวน์ช่วงแรกไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อการล็อกดาวน์ขยายเวลาออกไป และทางการสั่งห้ามไม่ให้ชาวเมืองออกจากบ้านไม่ว่าจะมีเหตุผลใดก็ตาม ก็ทำให้บริการเดลิเวอรี เว็บไซต์ร้านขายของชำ และแม้กระทั่งการแจกจ่ายสิ่งของจากทางการ ต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ พนักงานเดลิเวอรีจำนวนมากยังถูกกักตัวอยู่ในพื้นที่ปิดตาย ส่งผลให้ความสามารถในการจัดส่งอาหารและสินค้าจำเป็นโดยรวมลดลง

ชาวเมืองในบางพื้นที่ของเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า พวกเขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง “โปรดแก้ปัญหาความสามารถในการจัดส่งไม่เพียงพอโดยเร็วที่สุด” ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเวยปั๋วรายหนึ่งบอก ขณะที่อีกคนเขียนว่า “นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมหิว”

นอกจากนี้ ยังเริ่มพบปัญหาหารโก่งราคาอาหารและสินค้า รวมถึงความยากลำบากของผู้สูงอายุที่ไม่คุ้นชินกับการสั่งอาหารและสินค้าด้วยเทคโนโลยี

ด้านเจ้าหน้าที่ของเซี่ยงไฮ้ออกมาเปิดเผยว่า รับทราบปัญหาด้านอาหารที่เกิดขึ้นแล้ว โดยกล่าวว่า เซี่ยงไฮ้มีข้าว ก๋วยเตี๋ยว เมล็ดพืช น้ำมัน และเนื้อสัตว์เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่มีความล่าช้าในการแจกจ่าย กำลังเร่งหาทางแก้ไข

เฉินตง รองนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า จะพยายามหาทางเปิดตลาดค้าส่งและร้านขายอาหารบางแห่งให้ได้อีกครั้ง และจะอนุญาตให้พนักงานส่งของออกจากพื้นที่ปิดล็อก “เราได้จัดประชุมกันข้ามคืนเพื่อพยายามหาทางแก้ไข”

พรากลูกจากพ่อแม่

หนึ่งในมาตรการสำคัญของการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้คือ “การแยกผู้ที่ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ”

ฟังดูเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องที่ดีในการแยกไม่ให้ผู้ติดเชื้ออยู่ใกล้กับผู้ที่ไม่ติดเชื้อเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ทำให้เกิดกรณีที่ว่า หากในครอบครัวหนึ่ง ลูกติดเชื้อโควิด-19 แต่พ่อแม่ไม่ติด ตัวลูกหรือเด็กก็จะต้องถูกนำไปตัวไปกักตัวเพียงลำพังโดยไม่มีพ่อหรือแม่ไปด้วย

ในโซเชียลมีเดียของจีน จึงเกิดการแชร์ภาพและวิดีโอเด็กเล็ก ไปจนถึงทารก ที่ร้องไห้อยู่ในโรงพยาบาล เพราะไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วยจากมาตรการอันเข้มงวด ทำให้ทางการจีนและเซี่ยงไฮ้ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความไม่เหมาะสมของการพรากลูกจากพ่อแม่

หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ล่าสุดทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศอนุญาตให้ผู้ปกครองของเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่กับเด็กได้ โดยผู้ปกครองสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอเข้าพักกับเด็กที่มี “ความต้องการพิเศษ” และคอยดูพวกเขาได้ โดยผู้ปกครองต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่จะมีต่อตัวเอง และลงนามในข้อตกลง

นอกจากนี้ ผู้ปกครองที่จะอยู่ดูแลเด็กต้องสวมหน้ากาก รับประทานอาหารในเวลาที่ต่างจากลูก หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับพวกเขา และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด กระนั้น ทางการเซี่ยงไฮ้ไม่ได้กำรายละเอียดที่ชัดเจนว่า เด็กที่มีคุณสมบัติแบบใด จึงจะนับว่าเป็นเด็กที่มี “ความต้องการพิเศษ”

แต่แม้ทางการเซี่ยงไฮ้จะประกาศข้อยกเว้นนี้ ก็ยังคงมีรายงานเด็กที่ติดโควิด-19 แล้วถูกแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ดี

สุนัขถูกฆ่าทิ้ง

นอกจากเรื่องของอาหารการกินและการถูกพรากจากครอบครัวแล้ว ทางการจีนยังต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากเมื่อวันพุธ (6 เม.ย.) มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ป้องกันโควิด-19 ได้ฆ่าสุนัขสายพันธุ์คอร์กีตัวหนึ่งที่เจ้าของติดเชื้อ

โดยเจ้าของคอร์กีตัวนั้นตรวจพบเชื้อโควิด-19 และถูกส่งไปยังศูนย์กักตัว ซึ่งเจ้าของตัดสินใจปล่อยสุนัขตัวนี้ให้ออกมาอยู่ข้างนอกในช่วงที่ต้องกักตัว เพราะเกรงว่ามันจะเหงาและไม่มีอะไรกินหากต้องอยู่ในบ้านตัวเดียว

วิดีโอดังกล่าวซึ่งถ่ายโดยคนที่อาศัยอยู่ในตึกใกล้ ๆ เผยให้เห็นว่า มีสุนัขคอร์กีกำลังไล่ตามรถตู้ที่เจ้าของขึ้นเพื่อไปกักตัว เมื่อรถตู้ขับออกไปแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งใช้จอบฟาดสุนัข 3 ครั้งจนตาย โดยในวิดีโอยังได้ยินเสียงร้องของสุนัขคอร์กีตัวดังกล่าว และได้ยินเสียงคนที่ถ่ายวิดีโอตะโกนว่า “โหดร้ายเกินไปแล้ว”

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูแลกิจการของชุมชนบอกกับเว็บไซต์ news.com.cn ว่า พวกเขาฆ่าสุนัขเพราะคิดว่ามันมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

“เราไม่ได้พิจารณาถึงประเด็นนี้อย่างเต็มที่ และเราได้แจ้งเจ้าของสุนัขว่าเราจะหารือเรื่องค่าชดเชยกับเขาในภายหลัง” เจ้าหน้าที่รายนี้ซึ่งไม่ได้เปิดเผยชื่อกล่าว

หลังเจ้าหน้าที่ออกมาชี้แจง โลกออนไลน์ของจีนก็ไม่ได้สงบลง ชาวเน็ตรายหนึ่งบอกว่า “สิ่งที่เจ้าหน้าที่คนนี้พูดแสดงให้เห็นว่าเธอไม่ได้แยแสต่อชีวิตที่ตายไปเลย”

อีกคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ฉันรู้สึกอกหักเมื่อเห็นว่าเจ้าคอร์กีกำลังวิ่งไล่ตามเจ้าของ แต่กลับถูกทุบตีจนตาย”

เจ้าหน้าที่ในจีนได้ฆ่าสุนัขหลายครั้งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างทางการและประชาชนจำนวนมาก

ในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ในมณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน ได้ก่อเหตุทุบสุนัขเลี้ยงจนตายด้วยแท่งเหล็กในบ้านของเจ้าของ หลังจากที่เจ้าของถูกพาตัวไปกักตัว แม้เจ้าหน้าที่จะสัญญากับเจ้าของว่าจะไม่ฆ่าสัตว์เลี้ยงของเขา

หรือเมื่อปลายเดือน มี.ค. เขตหนึ่งในมณฑลเหอเป่ย์ทางเหนือของจีนได้ออกหนังสือเวียนสั่งฆ่าสัตว์เลี้ยงทุกตัวที่เจ้าของตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนต้องยกเลิกคำสั่ง

เสียงแซ่ซ้องแปรเปลี่ยนเป็นเสียงโห่

ในช่วงแรกที่จีนประกาศนโยบายโควิด-19 ในจีนเป็นศูนย์ สีจิ้นผิง ผู้นำจีน ได้รับเสียงชื่นชมและยกย่อง ว่าเป็นผู้ตัดสินใจเด็ดขาด ยอมเสียสละบางอย่างเพื่อรักษาชีวิตที่แสนสำคัญของประชาชนชาวจีน

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างหาก “ตึง” จนเกินไป ย่อมสามารถสร้างความเดือดร้อนได้ และนโยบายหลายอย่างในการสกัดสั้นโควิด-19 ของจีนตอนนี้ ก็เข้าข่ายว่ากำลังตึงจนเกินพอดี และล้ำเส้นของประชาชน ส่งผลให้เสียงแซ่ซ้องที่ประชาชนจีนมีให้กับทางการจีนและผู้นำจีนในตอนแรก เริ่มแปรเปลี่ยนกลายเป็นเสียงโห่และก่นด่า

นี่จึงกลายเป็นความท้าทายของสีจิ้นผิงและรัฐบาลจีน ที่กำลังเจอโจทย์เดียวกับที่รัฐบาลไทยเคยถูกตั้งคำถามว่า “จะอดตายหรือยอมเสี่ยงกับโควิด-19”

ต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากนี้ จีนและเซี่ยงไฮ้จะเลือกก้าวเดินไปทางไหน จะยอมผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เพื่อให้ประชาชนหายใจหายคอได้โล่งขึ้น หรือจะเลือกใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อไป แม้จะเสี่ยงกับการเสียภาพลักษณ์ในสายตาของประชาชน

 

เรียบเรียงจาก BBC / SCMP / The Guardian

ภาพจาก AFP / AP

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ